วันนี้ (28 ส.ค. 63) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การบริหารราชการของรัฐบาล “รวมไทยสร้างชาติ” ในงานสัมมนาวิชาการบริบทของท้องถิ่นกับการพัฒนาประเทศ จัดโดย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคเหนือ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พลตำรวจโท ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย รองแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ผู้บริการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 1,300 คน ร่วมรับฟัง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ภายหลังวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รัฐบาลได้มีแนวคิดในการดำเนินการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานแบบใหม่ (New Normal) ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการ ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการประชาชน แต่ต้องทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้ได้ ทั้งเรื่องการทำมาหากิน และภัยสังคม โดยทุกภาคส่วนและทุกระดับในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการช่วยกำหนดอนาคตของประเทศ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นหัวใจของการบริการสาธารณะ เป็นหน่วยการปกครองที่ดูแลพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นตามอำนาจหน้าที่ถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการตอบสนองประชาชน
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน “รวมไทยสร้างชาติ” เป็นแนวทางที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำริแนวคิดนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นแนวคิดที่รัฐบาลประชาธิปไตยทั่วโลกใช้อย่างเป็นสากล คือ “หลักการมีส่วนร่วม” ซึ่งในปัจจุบันประชาชนคนไทยทุกระดับ ทุกช่วงวัย ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยแนวคิดไทยสร้างชาติ มีหลักการดำเนินงานสำคัญ 3 ประการ คือ 1) รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็น ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ 2) ต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ (Outcome) ว่าเมื่อดำเนินงานแล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือเกิดประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake Holder) อย่างไร และ 3) ต้องทำงานเชิงรุก ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานให้ตอบสนองประชาชนอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกลไกการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ผ่านการออกข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีแผนพัฒนาท้องถิ่นที่ยึดโยงสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนชาติ ดังนั้น จึงต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า สำหรับแนวคิดขับเคลื่อน “ไทยไปด้วยกัน” เป็นแนวคิดในการติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์ โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 242/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน มีกลไกการดำเนินงาน แบ่งเป็น 1) ระดับอำนวยการ โดยคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมอบหมายรัฐมนตรีคนหนึ่งรับผิดชอบในระดับพื้นที่จังหวัด และ 2) ระดับพื้นที่ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ติดตามรับฟังและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนในระดับจังหวัด ตอบสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นความจำเป็นในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เป็นต้น
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ด้วยกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกองค์กร ด้วยการรณรงค์ลดการใกล้ชิดกัน ลดการสัมผัสกัน และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และกิจกรรมที่มีความสำคัญยิ่ง คือ การอบรมการทำหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายพี่น้องประชาชนกว่า 50 ล้านชิ้น ทำให้คนไทยทุกคนสามารถใช้ชีวิตวิถีใหม่ ปลอดการติดเชื้อ รวมทั้งการดำเนินงาน Local Quarantine ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานสาธารณสุข จึงขอให้ดำเนินการต่อไป เพื่อให้ประชาชนและประเทศไทยปลอดการติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ ในช่วงสุดท้าย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดบริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 116/2563 วันที่ 28 ส.ค. 2563
วีดิโอ https://youtu.be/mkCGMfb-4o4