ปลัดกระทรวงมหาดไทยเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมภาคเหนือจ.เชียงใหม่ สนองพระดำริ”เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ส่งเสริมการใช้-สวมใส่ผ้าไทย และงานหัตถกรรม กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค โดยมี นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้ประกอบการที่ส่งผลิตภัณฑ์จากผ้าและงานหัตถกรรมเข้าร่วมในงาน โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ระดับภาค อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย น.ส.รติรส ภู่วิภาดาวรรธน์ รองประธานกรรมการบริษัท ไอริส 2005 จำกัด นายศิริชัย ทหรานนท์ อาจารย์ศมิสสร สุทธิสังข์ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ กรมหม่อนไหม และ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ ร่วมในพิธี ณ โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาคในปีนี้ภาพรวมเป็นไปได้ด้วยดี ทุกภูมิภาคมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนร่วมกันนำแนวพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับตนเองและครอบครัว “ผ้าไทย”จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้ต้องพัฒนาจากคนทอผ้าก่อน พระองค์จึงเสด็จลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อทรงให้คำแนะนำชี้แนะ ให้แก่กลุ่มทอผ้า รวมถึงการเก็บรวบรวมสูตรการทอผ้า การย้อมสีผ้าของแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของการการย้อมสีผ้านั้น ควรใช้สีธรรมชาติในการย้อม เลิกใช้สีเคมี เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ในสีเคมีไม่สามารถสลายตามธรรมชาติได้ ส่งผลทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสีย รวมถึงในกระบวนการย้อมก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ย้อมเองด้วย จึงอยากให้ทุกคนร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของท้องถิ่นเอาไว้บนลายผ้า ซึ่งลายผ้าของในแต่ละพื้นที่จะบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ (Story telling) ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต “ผ้าไทย” จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นเครื่องหมายของความเป็นชาติ ไม่น้อยไปกว่าภาษา รวมถึงสามารถแสดงเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ซึ่งหากทุกคนไม่ช่วยกันสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงมุ่งมั่น “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมผ้าไทย และส่งเสริมให้คนไทยหันมานิยมสวมใส่ผ้าไทย และร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย จึงเป็นที่มาของ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ การพัฒนาให้ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการนำเอาผ้าไทย ไปตัดเย็บในรูปแบบที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ สามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาส และเกิดความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้สวมใส่
“สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่นี้ เกิดขึ้นได้เพราะพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอุทิศทุ่มเทพระวรกาย ในการที่จะช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทย ด้วยการส่งเสริมการใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการทำการเกษตรมาทอผ้าเพื่อเป็นอาชีพเสริม ซึ่งการทอผ้านั้นถือเป็นศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ช่วยให้ประชาชนมีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และต่อมาได้มีการพัฒนา ต่อยอด จนเกิดเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในปัจจุบัน ซึ่งหลังจากนั้นไปต้นมาแนวทางในการพัฒนาดังกล่าว ได้ช่วยให้พี่น้องประชาชนเกิดรายได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รัฐบาลจึงได้ขับเคลื่อนผ่าน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยการเชิญชวนพี่น้องทุกสาขาอาชีพที่มีฝีมือรวมกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม OTOP ให้พี่น้องประชาชนเข้ามาที่ส่วนร่วม ซึ่งเป็นภารกิจในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” มีส่วนช่วยทำให้ชุมชนดีขึ้น คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า อยากให้พี่น้องประชาชนกลุ่มทอผ้าและกลุ่มหัตถกรรมต่าง ๆ ยึดถือในเรื่องการพึ่งพาตนเอง ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ และให้พัฒนาฝีมือคนในหมู่บ้านชุมชน เป็นหลักการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตรงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และอยากให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทั้งการออกแบบลวดลายใหม่ ๆ การพัฒนาต่อยอดจากงานเดิมให้ดีขึ้น รวมถึงให้ใช้ช่องทางการตลาดทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้จะยั่งยืนได้ ในแต่ละพื้นที่ควรมีจุดศูนย์กลาง ทั้งที่เป็นสถานที่ผลิต โรงเรียน โรงงาน สถานที่จำหน่ายสินค้า แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง พอประมาณ ดังตัวอย่างที่บ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร
ขณะที่ นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค กิจกรรมที่ 2 บันทึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรมที่ได้รับการคัดเลือก และกิจกรรมที่ 3 ติดตามสนับสนุนผู้ประกอบการผ้าไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ผ่านการคัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม จากพื้นที่ 4 ภูมิภาค ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จำนวน 150 ผืน/ชิ้น จะทำให้ผ้าไทยและงานหัตถกรรมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
สำหรับ กิจกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค กรมการพัฒนาชุมชน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตัดสินการประกวด ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินฯ ในครั้งนี้ด้วย.“โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน – 19 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ โดยกำหนดดำเนินการกิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน และงานหัตถกรรม ระดับภาค 4 จุดดำเนินการ ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ จุดดำเนินการที่ 1 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวด ประเภทผ้า จำนวน 56 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 27 ชิ้น , จุดดำเนินการที่ 2 ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวด ประเภทผ้า จำนวน 33 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 23ชิ้น
จุดดำเนินการที่ 3 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวด ประเภทผ้า จำนวน 85 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 18 ชิ้น และจุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 กันยายน 2565 จังหวัดอุดรธานี มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวด ประเภทผ้า จำนวน 1,932 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 69 ชิ้น โดยจะมีการประกวดรอบคัดเลือกในวันที่ 26 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เพื่อคัดเลือกผ้าหรืองานหัตถกรรม จำนวน 150 ผืน/ชิ้น เพื่อประกวดในรอบ Semi Final และรอบตัดสินในระดับประเทศ ต่อไป” รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติม
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค จะทำให้มีการตื่นตัวในการพัฒนาฝีมือการทอผ้า ทุกเทคนิคของผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้าทุกคน ให้มีคุณภาพมีความหลากหลายและมีการประยุกต์รูปแบบลวดลาย สีสันที่ร่วมสมัยสามารถสวมใส่ ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส ตามแนวพระดำริโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยดีอย่างยั่งยืนตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 340/2565 วันที่ 10 ก.ย. 65