เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 65 เวลา 15.00 น. ที่ห้องบอลรูม 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด” และเป็นประธานปิดการศึกษาอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงและผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สถาบันผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นสถาบันที่มีความสำคัญในการบริหารราชการในระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดความผาสุกต่อประเทศชาติ เกิดความสุขที่ยั่งยืนกับพี่น้องประชาชนคนไทย จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยทุกท่าน ตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ช่วยทำสิ่งที่ดี ๆ ให้เต็มกำลังความสามารถ เพื่อรักษาเกียรติภูมิ เกียรติศักดิ์ของสถาบันผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย อันจะยังประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ เกิดประโยชน์มิติต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน ได้แก่ ประการที่ 1 ต้องยึดมั่นใน 76 คำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เป็นคำมั่นสัญญาที่สำคัญที่ต้องตระหนักและร่วมกับทีมงานในพื้นที่ ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานตามหมุดหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SGDs) ทั้ง 17 ด้าน โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องเป็นผู้คิดริเริ่มนโยบาย ให้คำแนะนำ และลงไปติดตามการทำงาน ลงไปเอาใจใส่ ติดตาม ให้กำลังใจ คนทำงานในพื้นที่ และช่วยคนทำงานเหล่านั้นให้พวกเขาสามารถทำอย่างไรให้งานสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างจริงจัง ด้วยการวางระบบการทำงาน และเสริมสร้างความรับรู้เข้าใจกับพี่น้องประชาชนและสังคมถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการลงมือปฏิบัติ เช่น การน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ว่าจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารอย่างไร อาทิ ในยามศึกสงคราม ไม่มีการตลาด ไม่มีการซื้อหาอาหาร สิ่งเหล่านี้ก็สามารถช่วยชีวิตเราได้ หรือแม้แต่ ในยามปกติ การใช้เงินไปซื้อผักตามท้องตลาด ก็เสี่ยงที่จะได้ผักที่มีสารเคมี มีพิษ สร้างโทษกับร่างกาย รวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมเนื่องในวันดินโลก (World Soil Day) ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ประการที่ 2 การขับเคลื่อนงานทุกอย่างจะยั่งยืนได้ ต้องมี “ผู้นำ” คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้น ทุกท่านจึงต้องเป็นผู้นำของทุกภาคส่วนในพื้นที่ บูรณาการ จับมือ ประสานกับ “ภาคีเครือข่าย” ทั้งภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา พระสงฆ์องค์เจ้า ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายด้านเศรษฐกิจ เช่น กรอ. หอการค้า สภาอุตสาหกรรม บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งทุกภาคีเครือข่ายที่กล่าวมาเป็นองคาพยพที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ต้องไปทบทวนว่าที่ผ่านมาจังหวัดได้มีการขับเคลื่อนประสานพลังอย่างเต็มศักยภาพหรือไม่ และทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ทั้งจัดให้มีการประชุม การหารือ การรับฟังความคิดเห็น และวางระบบหาแนวทางในการช่วยเหลือ เกื้อกูล ทำให้ภาคีเครือข่ายสามารถขับเคลื่อนงานให้สนับสนุนการทำงานในพื้นที่ อันจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถประกอบสัมมาชีพ มีกิน มีใช้ มีรายได้ หาเลี้ยงครอบครัวได้ นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่าน ยังได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์สภานายิกาสภากาชาดไทย โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษานายกเหล่ากาชาดจังหวัด” เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ ให้คำแนะนำกับนายกเหล่ากาชาดจังหวัด โดยสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ตอนนี้ คือ ต้องพยายามลดจุดอ่อนของกรรมการเหล่ากาชาดที่ทุกวันนี้ “ทีมงานเหล่ากาชาดจังหวัด” จะมีผู้อาวุโส ผู้สูงวัยเยอะ เพราะทุกท่านเหล่านั้นได้ทำหน้าที่มาตั้งแต่หลายสิบปีก่อน และทำหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ด้วยจิตอาสา จิตสาธารณะ มาจนถึงทุกวันนี้ โดยการช่วยกันระดมสรรพกำลัง เชิญชวน ชักชวน คนรุ่นใหม่ ทั้งวัยทำงาน วัยหนุ่มสาว เช่น YEC และเครือข่ายจิตอาสาต่าง ๆ มาเป็นทีมในการทำงานเหล่ากาชาดร่วมกับแม่ ๆ เหล่ากาชาด เพื่อให้เกิดการส่งต่อ ถ่ายทอดภารกิจอันมีความสำคัญในการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และต้องไม่หลงลืมภาคีเครือข่ายสตรีอื่น ๆ ในพื้นที่ ทั้งชมรมแม่บ้านของส่วนราชการ และหน่วยระดับต่าง ๆ ชมรมแม่บ้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็นกำลังสำคัญในการทำงานในพื้นที่
ประการที่ 3 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องรู้ทุกเรื่อง ทุกข้อมูลข่าวสารในพื้นที่จังหวัดของตนเองด้วยความรวดเร็วกว่าพี่น้องสื่อมวลชน เช่น เด็กเรียนหนังสือดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เด็กนักเรียนไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม รองเท้าขาดหลุดลุ่ย หรือคนยากไร้ คนเร่ร่อน ที่ไปนอนอยู่ใต้สะพาน ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเหล่ากาชาดจังหวัดรู้ก่อน ก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนให้กับบุคคลเหล่านั้นได้เร็วขึ้นกว่าการรับรู้จากสื่อมวลชน โดยต้องไปผลักดันภาคีเครือข่ายทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของอำเภอ ของจังหวัด ทั้งปลัดอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ป้องกันจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ฯลฯ ทำให้ทีมผู้รับผิดชอบประจำตำบลมีความเข้มแข็ง ทำให้ทุกข้อมูลข่าวสารทั้งที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ ทั้งที่เกี่ยวกับราชการ และไม่เกี่ยวกับราชการ ได้ส่งต่อมาถึงท่านนายอำเภอ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถวางแผนบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ประการที่ 4 ต้องน้อมนำพระดำริของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ว่า “การทำงานรองเท้าต้องสึกก่อนก้นกางเกงขาด” ซึ่งรองเท้าจะสึกเพราะเกิดจากการออกเยี่ยมเยียนไปพบปะผู้คนในพื้นที่จังหวัด ทั้งตลาดสด ร้านกาแฟ ชมรมไทเก๊ก ชมรมลีลาศ เป็นสิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำให้เกิดขึ้น ทำให้ตนเองเข้าไปอยู่ในหัวใจของประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาตี : ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง” ทำตนเป็นเหมือนรวงข้าวที่สุกโน้มเข้าหาพระแม่ธรณี ด้วยการโน้มตัวเข้าไปหาประชาชน ใช้ชีวิตตามปกติ อยู่กับพี่น้องประชาชน ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อที่พี่น้องประชาชน และสังคมในพื้นที่ จะได้กล่าวถึง จะได้เห็นผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนและพื้นที่ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น และเพื่อประเทศชาติมีความมั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็ง
ประการที่ 5 ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่เป็นตำแหน่งสำคัญ เป็นขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณ ในการไปตรวจ ไปติดตาม ไปแนะนำ ต้องไปทำหน้าที่ด้วยการทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยทุกท่าน นำเอาความรู้ ประสบการณ์ที่มีที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่บรรจุรับราชการ กลับไปที่พื้นที่ นำสิ่งเหล่านี้ออกมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด ดังสิ่งที่พวกเรามุ่งมั่นตั้งใจ และหมั่นปลุกพลังของตนเอง ครองตน ครองคน ครองงาน เติมเชื้อ เติมพลังแห่งความปรารถนาดีต่อประเทศชาติและประชาชนเข้าไป ด้วยการสำนึกรำลึกถึงอนาคตของชาติ คำนึงถึงลูกหลานคนไทยและคนในจังหวัดที่เราไปทำหน้าที่ และนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอให้พิสูจน์ตัวเอง โดยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยทุกคนขอเป็นกำลังใจ และจะคอยสดับตรับฟังข้อมูลข่าวสารจากคนในพื้นที่ จากพระสงฆ์องค์เจ้า พี่น้องสื่อมวลชน พี่น้องประชาชน และจากการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงาน การทำหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด “แม่ทัพในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข Change for Good ให้เกิดสิ่งที่ดีแด่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัด” อย่างยั่งยืนสืบไป
#WorldSoilDay #วันดินโลก #soilswherefoodbegins #Soils4Nurition #FAO #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 642/ 2565 วันที่ 18 ธ.ค. 2565