วันนี้ (3 ก.ค. 66) เวลา 13.30 น. ที่หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร เป็นองค์ประธานการประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ประจำปี 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยได้รับเมตตาจาก พระพรหมวชิรเวที กรรมการมหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ในฐานะคณะกรรมการผู้แทนอำนวยการ พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง พระเทพปวรเมธี รองเจ้าคณะภาค 15 ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนหนกลาง พระสังฆาธิการ พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร และพระเถรานุเถระ ร่วมพิธี โดยมี นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด 76 จังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
โอกาสนี้ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร องค์ประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วถวายสักการะเบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะหน้าพระรูป สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แล้วนำผู้ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์
จากนั้น สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร กล่าวให้โอวาทและมอบนโยบายความว่า ขออนุโมทนากับท่านทั้งหลายที่มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกันในวันนี้ ซึ่งโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแห่งประชาชน สันติสุขแห่งประเทศชาติ โดยในปี 2566 มหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งที่ 3,4,5/2566 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหารกลาง และคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับหน โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ตามลำดับ
“นับตั้งแต่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ต้นนั้น สามารถยังประโยชน์ต่อการสร้างสังคมให้มีความสุขด้วยหลักพุทธธรรม การดำรงชีวิต โดยการนำหลักศีล 5 ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม มาโดยตลอด และพัฒนาขับเคลื่อนโครงการจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2566 นี้ ได้มีการจัดทำระเบียบและแต่งตั้งคณะกรรมการโดยมีการบูรณาการร่วมกันทั้งในส่วนของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และภาคเอกชน ด้วยการกำหนดกรอบ ทิศทาง แนวนโยบาย และยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ในเชิงคุณภาพ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านจิตใจให้มากขึ้น โดยยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหัวใจสำคัญ คือ หลักไตรสิกขา อันเป็นธรรมแห่งการพัฒนาชีวิตให้ประสบความสำเร็จตามหลักพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วย 1) อธิศีลสิกขา คือ ศีลอันยิ่ง ศีล เป็นอาภรณ์ เป็นเครื่องประดับอันประเสริฐ เป็นหลักการพัฒนาระดับความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ให้ครอบครัว สังคม ชุมชน สามารถ มั่นคงตั้งมั่นอยู่ในศีล มีศีล 5 เป็นเบื้องต้นนั้น สังคมก็จะเป็นสุข และยั่งยืน 2) อธิจิตตสิกขา คือ จิตอันยิ่ง กล่าวคือ สมาธิ อันเป็นหลักในการพัฒนาจิตใจให้มี สมรรถภาพ ประสิทธิภาพในการคิด พิจารณา ไตร่ตรอง ให้ทราบถึงเหตุและผลอันสมควร ให้ส่งเสริมการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้น อันเป็นการธรรมที่ควรเจริญ ให้จิตใจเกิดความสงบสุข เกิดความสมดุลในชีวิต และ 3) อธิปัญญาสิกขา คือ ปัญญาอันยิ่ง เป็นหลักพัฒนาความรู้ความเข้าใจสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะสิ่งทั้งหลายให้เกิดความแจ่มแจ้ง โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องเสริมสติปัญญาให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้เกิดคุณภาพในด้านจิตใจ ทั้งนี้ ต้องบูรณาการร่วมกันกับศิลปวัฒธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ความเป็นตัวตนของชุมชน การประกอบสัมมาชีพ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้การพระพุทธศาสนาดำเนินควบคู่ไปกับศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้คงอยู่สืบไป อันจะยังประโยชน์ให้พุทธศาสนิกชน ตลอดจนประชาชนทั้งหลายมีศีล มีธรรม มีสุข ได้อย่างเป็นรูปธรรม” สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีฯ กล่าว
สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การให้พระเถรานุเถระ ผู้นำในทุกหน ทุกจังหวัด ใช้สำนักปฏิบัติธรรมที่มีในทุกจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวในแต่ละภูมิภาค สันติสุขจึงจะเกิดขึ้นได้ โดยประชาชนต้องมีปัญญา ดังนั้น เราใช้สถานปฏิบัติธรรมผนวกรวมกับวัฒนธรรมของชุมชนในแต่ละถิ่น นำเข้ามาเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ควบคู่กับอนุรักษ์ศาสนา เพื่อให้การปฏิบัติธรรมรักษาศีลยั่งยืนสืบไป นำไปสู่ประชาชนมีความสุขและความสันติสุข และขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เชื่อมโยงโครงการกล่าวกับยุทธศาสตร์ 6 ด้าน พร้อมทั้งต้องติดตาม ประเมิน และสรุปผลการดำเนินงานเชิงสถิติ เพื่อนำจุดอ่อน-จุดแข็งมาพัฒนาให้ครอบคลุมในทุกด้านให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ ซึ่งจะทำให้หมู่บ้าน ชุมชน รู้เท่าทัน และประสบพบเจอแต่ความสุข จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์
“ขอให้คณะสงฆ์ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการสำคัญ โดยคณะกรรมการบริหารกลาง ต้องจัดทำแผนในการปฏิบัติ จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ หรือแผนปฏิบัติงานประจำปี เพื่อเกิดความชัดเจน และนำแผนสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง คณะกรรมการประจำหนต่าง ๆ ออกตรวจการและติดตามการดำเนินงาน โดยกำหนดเป้าหมายในระยะเริ่มต้น และการรายงานผล สรุปผลการดำเนินโครงการในรอบปีที่ผ่านมา โดยผู้แทนแต่ละภูมิภาคสรุปปัญหาและอุปสรรค พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และขอให้การขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำเร็จประโยชน์ และมีความมั่นคงยั่งยืนสืบไป” สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความเมตตายิ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร ได้มีความเต็มใจและรับเป็นธุระตามที่มหาเถรสมาคมได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน “หมู่บ้านรักษาศีล 5” เพื่อช่วยกันหาแนวทางและวิธีการขับเคลื่อนสร้างพลเมืองดีให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติของเรา ซึ่งปัจจุบันการให้ประชาชนทุกคนรักษาศีล 5 นับว่า “ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา” ดังนั้น โครงการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานของการเป็นพลเมืองดีตามที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ พระมหาเถระ และคณะสงฆ์ทุกรูปท่าน จะได้ร่วมด้วยช่วยกันกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ ดำเนินการตามแนวทางนโยบายที่ท่านได้มอบให้ในวันนี้ไปสู่การปฏิบัติในทุกพื้นที่ ทุกชุมชน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ “การพัฒนาประชาชนและประเทศชาติไปสู่ความยั่งยืน”
“กระทรวงมหาดไทย ได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์เป็นหลักชัยการบูรณาการขับเคลื่อนงานโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ตามที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข และ MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ คือ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” โดยกระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว เพราะกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับระดับพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัด ดังนั้น ภารกิจทุกงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม จึงเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นแม่ทัพใหญ่ที่จะต้องขับเคลื่อนงานในพื้นที่เช่นเดียวกัน” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวต่ออีกว่า ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (ผอ.พศจ.) ผู้เป็นฝ่ายเลขานุการงานด้านกิจการคณะสงฆ์ของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานของผู้ว่าราชการจังหวัดในการสนองงานคณะสงฆ์ให้ดีได้ ซึ่งงานจะดีได้ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของทุกท่านในการที่จะใช้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทำงาน ซึ่งคำว่า “ใช้” หมายความว่า หน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี คือ ผอ.พศจ. ต้องทำให้ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งที่ดีตามที่ตนเสนออยากให้ทำได้ เช่นเดียวกันกับหน้าที่ในการขับเคลื่อน “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ซึ่งปัจจุบันได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” คือ การสร้างความสุข ทำให้ประชาชนมีความรักสามัคคี ด้วยการรักษาสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสามารถนำไปร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการงานไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน โดยทำให้ยุทธศาสตร์และนโยบายของหมู่บ้านรักษาศีล 5 นี้ บรรจุอยู่ในเนื้องานของหมู่บ้านยั่งยืนด้วย เพื่อทำให้ทุกภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
“กระทรวงมหาดไทย จะสนองงานคณะสงฆ์ด้วยการดำเนินการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ได้แก่ 1) การประเมินผลของการขับเคลื่อนการดำเนินการที่ผ่านมาภายใต้กระทรวงมหาดไทย เพื่อวิเคราะห์หาจุดอ่อน-จุดแข็ง 2) ยกร่างแผนปฏิบัติการ 2566 ของกระทรวงมหาดไทย ให้สอดคล้องกับแนวทางมหาเถรสมาคม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว และ 3) การช่วยกันไปให้กำลังใจ เร่ง และติดตาม ขยายผลไปสู่สถานปฏิบัติธรรมที่ตั้งอยู่ในทุกจังหวัด ซึ่งต้องกราบขอความเมตตาจากพระสังฆาธิการและพระเถรานุเถระทุกรูป ณ ที่นี้ และที่ติดตามรับชมทางการถ่ายทอดสด ได้กรุณาเมตตาถวายเรียนแจ้งกับเจ้าอาวาสในทุกวัดของทุกจังหวัด รวมถึงสำนักปฏิบัติธรรมในทุกพื้นที่ ช่วยรับเป็นธุระ เป็นสาขาของสถานปฏิบัติธรรมด้วย และขอให้ทุกท่านได้ช่วยกันเพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ขอฝากความหวังกับผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดในการไปช่วยเป็นธุระทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้เป็นผู้นำและผู้บังคับบัญชาของข้าราชการใน 76 จังหวัด ได้ทำในสิ่งที่ดีตามที่พวกเราได้รับมอบหมาย ทำให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” ที่ประชาชนมีความมั่นคงและมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 641/2566 วันที่ 3 ก.ค. 2566