วันนี้ (5 ก.ค. 66) นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2566 ว่าจะเริ่มประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2566 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย และในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย สำหรับในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ โดยสถานการณ์ดังกล่าวมักก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายรวมถึงสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนและของรัฐ
“กระทรวงมหาดไทย โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองผู้บัญชาการ ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ดำเนินมาตรการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์อุทกภัย ปี 2566 และแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ปี 2566 พร้อมทั้งแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดตั้งศูนย์และปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยอำเภอ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ปี 2566 การสำรวจการเตรียมความพร้อมศูนย์พักพิงชั่วคราว (กรณีอุทกภัย) แบบสำรวจบัญชีเครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์ฯ การติดตามพื้นที่ที่มีการก่อสร้างของส่วนราชการ ที่อาจเป็นต้นเหตุของการกีดขวางทางน้ำ จนส่งผลต่อปัญหาการเกิดน้ำท่วมขัง และประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยให้ผู้อำนวยการอำเภอ และผู้อำนวยการท้องถิ่น แจ้งให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ตามนัยมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการช่วยเร่งระบายน้ำกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถขุดตักไฮดรอลิก พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำในพื้นที่ให้พร้อมเผชิญเหตุในการเร่งระบายน้ำ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย” นายนิวัฒน์ฯ กล่าว
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต่ออีกว่า ตนพร้อมด้วยนายกฤษณ์ แก้วทองหลาง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวันชัย ปังพูนทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา นางอมรรัตน์ กรึงไกร นายอำเภอเสนา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในอำเภอเสนา ร่วมลงพื้นที่ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด หมู่ที่ 7 ตำบลรางจระเข้ อำเภอเสนา ซึ่งเป็นจุดที่เกิดเหตุถนนบริเวณประตูระบายน้ำแห่งนี้ทรุดตัว โดยทางชลประทานฯ ได้ดำเนินซ่อมแซมและเสริมความแข็งแรงบริเวณพื้นที่โดยรอบเสร็จแล้ว ซึ่งมีความแข็งแรงพร้อมรับช่วงน้ำหลากที่จะมาถึง นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจความมั่นคงแข็งแรงของประตูระบายน้ำในเขตพื้นที่อำเภอบางปะอิน หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน ซึ่งเมื่อช่วงน้ำหลากปีที่ผ่านมา ประตูระบายน้ำแห่งนี้ เกิดการทรุดตัวทำให้น้ำทะลักเข้าสู่พื้นที่ชุมชนในเขตอำเภอบางปะอิน ทั้งนี้ ชลประทานฯ ได้ดำเนินการซ่อมแซมด้วยการทำผนังกั้นน้ำแบบถาวรด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำให้มีความแข็งแรงมากกว่าเดิม
“ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ รวมถึงการวางแผนรับมือน้ำหลากล่วงหน้า และเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยเร็ว รวมถึงระบบการป้องกันน้ำท่วมสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล ต้องมีการซักซ้อมแผนต่าง ๆ ด้วย รวมถึงแผนอพยพหากเกิดน้ำท่วมโรงพยาบาล ซึ่งในปีนี้ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะดำเนินมาตรการทุกมาตรการ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยให้ส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด” นายนิวัฒน์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวในช่วงท้ายว่า ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อม เช็คอุปกรณ์ต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งการกำจัดขยะวัชพืช การจัดทำแผนแจ้งเตือนภัยและแผนการอพยพ การสำรวจและช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง พร้อมทั้งย้ำเตือนให้อำเภอและทุกท้องถิ่น จัดทำแผนเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนว่าทางการได้ให้การช่วยเหลืออย่างไร พร้อมแจ้งประชาสัมพันธ์สายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 650/2566 วันที่ 5 ก.ค. 2566