วันนี้ (28 ก.ย. 66) เวลา 08.00 น. ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกิจกรรมเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทย เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายน 2566 ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายคมสัน เจริญอาจ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายอำพล พงศ์สุวรรณ นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนัก ศูนย์ กอง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่มงาน ข้าราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย ร่วมพิธีเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทย เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย วันที่ 28 กันยายน 2566 ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
เมื่อสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยให้สัญญาณเคารพธงชาติ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งแถวข้าราชการและเจ้าหน้าที่ยืนตรง จากนั้นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ทำหน้าที่ชักธง เชิญธงชาติซึ่งพับเรียบร้อยวางบนพาน ผูกติดกับสายเชือกทางด้านขวาของผู้ชักธง โดยคลี่ธงออกเต็มผืน แล้วดึงเชือกให้ธงขึ้นช้า ๆ ด้วยความสม่ำเสมอ ผู้ร่วมพิธีร่วมร้องเพลงชาติไทยอย่างกึกก้อง ด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย จนธงชาติถูกชักถึงสุดยอดเสาธง
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้พบปะและมอบแนวทางการทำงานให้แก่ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ โดยกล่าวว่า นับเนื่องย้อนไปเมื่อ 107 ปีก่อน คือ วันที่ 13 กันยายน 2459 อันเป็นปฐมเหตุของการใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยมีความเกี่ยวข้องกับพวกเราชาวกระทรวงมหาดไทยโดยตรง สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมืองอุทัยธานี ที่มีพระยาพิไชยสุนทร (ทอง จันทรางศุ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองอุทัยธานี พสกนิกรต่างยินดีปรีดาร่วมกันในการประดับธงช้าง ซึ่งเป็นธงชาติในยุคนั้น แต่เนื่องจากธงช้างหายาก มีราคาแพง และต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ผู้คนจึงประดับธงช้างเท่าที่มีอยู่ และใช้ผ้าพื้นสีแดงขาว ประดับและจับจีบผ้าทั่วบริเวณ โดยทรงทอดพระเนตรพบว่า บ้านบางหลังมีการประดับธงช้างสลับกลับด้าน คือ ช้างนอนหงายปลายเท้าชี้ฟ้า ทำให้เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติพระนครจึงทรงมีแรงบันดาลพระทัยในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธงชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 และพระราชทานธงชาติไทยให้มีลักษณะเป็นแถบสีเพื่อไม่ให้มีหัวมีท้าย หรือเรียกว่า “ธงไตรรงค์” มี 3 สี คือ “สีแดง” หมายถึง ชาติและเลือดเนื้อเชื้อไขของคนในชาติ นั่นคือ ประชาชน “สีขาว” หมายถึง ศาสนา และ “สีน้ำเงิน” หมายถึง พระมหากษัตริย์ ในวันที่ 28 กันยายน 2460
“หากเรานำสัดส่วนขนาดแถบธงชาติมารวมสีทั้ง 3 สี จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 สีมีขนาดเท่ากัน เพราะส่วนใดส่วนหนึ่งจะขาดไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกัน เป็นสถาบันหลักของประเทศ อันสะท้อนถึงการที่เราทุกคนต้องช่วยกันทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง เพราะเรื่องที่สำคัญ คือ ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีภัยคุกคามมาโดยตลอด เมื่อเราเท้าความไปในประวัติศาสตร์ความเป็นชาติซึ่งแม้ว่าทุกคนจะมีความเชื่อหรือค้นพบด้วยงานวิชาการที่แตกต่างกันไป แต่หากเรานับเนื่องตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เราจะเห็นว่า ภัยคุกคามประเทศล้วนเกิดจากข้าศึกอริราชศัตรูจากภายนอก ทั้งลัทธิล่าอาณานิคม การทำสงครามยึดครองแผ่นดิน สงครามเย็น หรือการต่อสู้เพื่อนำเอาลัทธิทางการปกครองคอมมิวนิสต์มาใช้ในประเทศ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวง สะท้อนสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “ความรักสามัคคี” เพราะประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัย บ้านเมืองเราเสียอิสรภาพ เสียเอกราช ไม่มีความมั่นคง มีเหตุสำคัญจากความรักสามัคคีของคนในชาติลดน้อยถอยลง บางยุคแตกแยก กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็เพราะคนไทยเป็นไส้ศึก เปิดประตูเมือง ดังนั้น ประเทศชาติที่เปรียบเสมือนเหล็กที่มีความแข็งแกร่งก็ล้วนจะถูกตัด ถูกทำให้เสียหายได้ด้วยเพราะสนิมของเนื้อในเหล็กทำให้เหล็กผุกร่อนทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นคติเตือนใจที่สำคัญที่ทำให้พวกเราทุกคนต้องมารวมพลังแสดงออกซึ่งความรู้รักสามัคคีเนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทยในวันนี้ คือ การรำลึกนึกถึงความสำคัญของการมีธงชาติ ให้เราได้ช่วยกันรำลึกความหมายอันลึกซึ้งว่า ประเทศชาติจะมั่นคงเป็นปึกแผ่นเหมือนธงไตรรงค์ที่ไม่ขาด ไม่วิ่น และมีสีอันสำคัญหมายถึงสถาบันหลักโดยรวม จะยังคงมีความมั่นคงอยู่ได้ จะต้องอาศัยความรักความสามัคคีและความตื่นตัวช่วยกันต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชความเป็นไทยของพวกเราให้คงอยู่ได้สถาพร” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พี่น้องชาวมหาดไทยทุกคนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการเป็นผู้นำที่จะช่วยนำเอาความรักสามัคคีให้กำเนิดเกิดขึ้นในสังคม เริ่มที่ครอบครัวของพวกเรา และสมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคี และความสุขให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างความสุขดังกล่าว ผ่านโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน และทรงตรัสว่า “หน้าที่ของคนมหาดไทยคือการทำให้เกิด Sustainable Village” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนนำร่องทั้ง 878 อำเภอ โดยคัดเลือกหมู่บ้านที่มีผลการพัฒนาน้อยที่สุดตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ ตำบลละ 1 หมู่บ้าน รวม 7,255 หมู่บ้าน
“คำว่าหมู่บ้านยั่งยืนมีตัวชี้วัด (KPIs) ที่สำคัญ คือ ความรักสามัคคี และการมีจิตอาสา ชาวบ้านในหมู่บ้านมีการพบปะ พูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ มีการปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการ “พึ่งพาตนเอง” ให้เกิดเป็นวิถีชีวิต รวมทั้งช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้คน มีความสะอาด มีพื้นที่สีเขียว และช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยการคัดแยกขยะ ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในระบบปิด ช่วยลดกลิ่นเหม็นเน่าที่จะลอยขึ้นสู่อากาศก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก เพราะในแต่ละวัน เราทุกคนสร้างก๊าซเสียประมาณวันละ 0.25 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/คน ซึ่งในอนาคตตามข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) จะกำหนดตัวชี้วัดของโลกว่า ถ้าใครทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ต้องมีกิจกรรมทดแทน เช่น การปลูกป่า การสร้างพื้นที่สีเขียวทดแทนเพื่อคำนวณออกมาเป็นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ถ้าจำนวนเท่ากันพอดีก็สามารถประกอบกิจการต่อได้เป็นปกติ แต่หากถ้าปริมาณคาร์บอนเครดิตมีน้อยกว่าก๊าซเสียที่ปล่อยสู่อากาศ ก็จะต้องเสียเงินให้กับคนที่ช่วยลดการปลดปล่อย ทั้งนี้จากการนำร่องจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนประจำครัวเรือนเป้าหมายทุกครัวเรือนใน 4 จังหวัดแรก คือ จังหวัดลำพูน จังหวัดเลย จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดอำนาจเจริญ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับคณะผู้ทวนสอบภายนอกทำการเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถรับรองได้ จำนวน 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในฐานะผู้ทำให้เกิดก๊าซเสียลอยสู่ชั้นบรรยากาศจากการทำธุรกิจ เช่น มีการเปิดแอร์ ใช้รถยนต์ เปิดไฟ จึงแสดงตนเป็นผู้มาซื้อคาร์บอนเครดิตที่ราคา 260 บาท/ตันคาร์บอนเครดิต รวมเป็นเงิน 816,400 บาท กลับคืนสู่ประชาชนในท้องถิ่นของทั้ง 4 จังหวัดนำร่อง โดยคุณกีต้า ซับบระวาล (Mrs.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งมาร่วมในงานดังกล่าวด้วย ได้แสดงความชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของประเทศไทยภายใต้การนำของกระทรวงมหาดไทยและแสดงจุดยืนการเป็นภาคีเครือข่ายที่แน่นแฟ้นในการร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเช่นนี้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ที่มีนายวิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธานกรรมการ ได้รับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากการใช้ถังขยะเปียกลดโลกร้อนประจำครัวเรือนใน 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ราชบุรี ลำพูน ยโสธร พะเยา มุกดาหาร สมุทรสงคราม นครพนม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ มหาสารคาม สกลนคร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นราธิวาส เชียงราย อุตรดิตถ์ นครศรีธรรมราช อุดรธานี และจังหวัดพิษณุโลก รวมกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน สามารถรับรองจำนวน 85,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งหากคิดจากราคารับซื้อเดิมจะสามารถคิดเป็นเงินกว่า 22 ล้านบาทกลับคืนสู่ชุมชนในแต่ละท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน นอกจากนี้หมู่บ้านยั่งยืนยังมีองค์ประกอบสำคัญ ทั้งเรื่องยาเสพติด การถ่ายทอดสิ่งที่ดีจากรุ่นสู่รุ่น ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียม การทำบุญใส่บาตร หรือกิจกรรมทางศาสนาตามศาสนา มีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มบ้าน หย่อมบ้าน ป๊อกบ้าน เพื่อช่วยกันดูแลคนที่อ่อนแอกว่าและมีการพูดคุยเพื่อสร้างความรักความสามัคคีอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยทุกคนที่ได้มาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นแน่วแน่ในการแสดงออกซึ่งความรักชาติ รักประเทศไทย รักและเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติร่วมกับพี่น้องข้าราชการในทุกส่วนราชการ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนทั่วประเทศในวันนี้ ภายใต้สัญลักษณ์เดียวกัน นั่นคือ “ธงไตรรงค์” ที่เรามาร่วมชุมนุมสโมสรโดยพร้อมเพรียงกันน้อมรำลึกว่า “ธงไตรรงค์ ไม่ใช่ผืนผ้าที่มี 3 สี 5 แถบ แต่เป็น 6 แถบ เพราะแถบสีน้ำเงินติดกันจึงกลายเป็นแถบใหญ่ อันมีนัยหมายถึงล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดธงชาติไทย และขอให้ชาวมหาดไทยทุกคนได้มีใจรุกรบ ลุกขึ้นมาเป็นโซ่ข้อกลางในการหลอมรวมพลัง ร้อยรวมใจ ดึงเอาภาคีเครือข่ายพี่น้องทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่โน้มตัวลงไปหาประชาชน ทำงานให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด ช่วยกันเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี สิ่งที่ดีงาม Change for Good สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม สนองพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันจะยังผลทำให้ประชาชนคนในชาติมีความสุขที่ยั่งยืน ประเทศชาติมีความมั่นคงสถาพรตลอดไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 902/2566 วันที่ 28 ก.ย. 2566