UN ชื่นชมกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากถังขยะเปียกลดโลกร้อนในพื้นที่ 22 จังหวัด พร้อมเดินหน้าเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขับเคลื่อน SDGs ตามเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา โลกนี้เพื่อเรา”
วันนี้ (29 ก.ย. 2566) มีการเผยแพร่ข้อความผ่านทาง X ของคุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งได้ทวิตข้อความ (รายละเอียดทวิตแรก https://twitter.com/SabharwalGita/status/1707218389775872224 และรายละเอียดทวิตสอง https://twitter.com/SabharwalGita/status/1707225042613108810) แสดงความชื่นชมยินดีในโอกาสที่กระทรวงมหาดไทยได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก รอบที่ 2 จากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ราชบุรี ลำพูน ยโสธร พะเยา มุกดาหาร สมุทรสงคราม นครพนม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ มหาสารคาม สกลนคร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นราธิวาส เชียงราย อุตรดิตถ์ นครศรีธรรมราช อุดรธานี และจังหวัดพิษณุโลก รวมปริมาณที่ได้รับการรับรอง จำนวน 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tco2eq) ซึ่งปริมาณที่ได้รับการรับรองนี้จะกลายเป็นเม็ดเงินเพื่อกลับไปพัฒนาพื้นที่ให้กับประชาชนคนไทยในแต่ละจังหวัด ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกับประชาชนขับเคลื่อนการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือนจนประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งยังได้ชื่นชมถึงความตั้งใจในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาร่วมกันระหว่างองค์การสหประชาชาติ กระทรวงมหาดไทย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการรักษาโลกใบเดียวนี้ให้มีอายุยืนยาวตามเจตนารมณ์ที่ได้ประกาศไว้ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลรักษาโลกใบเดียวนี้เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับลูกหลานในอนาคต ด้วยการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้ตื่นตัวและจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ในทุกครัวเรือน เพื่อทำให้พวกเราทุกคนสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุขในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ส่งผลทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อันสอดคล้องกับนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้สถานที่ราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Roadmap) ของแต่ละหน่วยงานเพื่อเป็นแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน 4 จังหวัดนำร่อง คือ ลำพูน เลย สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดย KBANK รับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 260 บาท/ตัน จำนวน 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นเงิน 816,400 บาท กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ซึ่งมีนายวิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธานกรรมการ ได้ทำการประชุมเพื่อรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากการใช้ถังขยะเปียกลดโลกร้อน ตาม “โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ระยะที่ 2” ใน 22 จังหวัด ซึ่งที่ประชุมได้มีมติรับรองปริมาณคาร์บอนเดรดิต จำนวน 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะเปียกได้กว่า 600,000 ตัน และทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการเป็นสารบำรุงดินกว่า 300,000 ตัน ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้นั้นเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 7 ล้านต้น และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายเก็บขนขยะของ อปท. กว่า 2,600 แห่ง ได้มากถึง 510 ล้านบาท นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของกระทรวงมหาดไทยตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดที่มี “ทีมงานที่ดี” ในแต่ละจังหวัด ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการนี้กันอย่างแข็งขัน เพื่อเป็นการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง และเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อประชาชน ชุมชน สังคม และโลกของเรา
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณคุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ที่ยืนอยู่เคียงข้างกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ชักชวนและระดมสรรพกำลังของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ และท้องถิ่นจังหวัด ทั้ง 22 จังหวัด ในการบูรณาการทีมงาน ทั้งทีมที่เป็นทางการโดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดี ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างสิ่งที่ดีให้กับโลกใบเดียวนี้ โดยกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยมีแผนในการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกในรอบที่ 3 ของทั้ง 76 จังหวัด ภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 906/2566 วันที่ 29 ก.ย. 2566