วันนี้ (4 ต.ค. 66) เวลา 14.00 น. ณ ห้อง Chadra 1 โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation หรือ IFC) เพื่อความร่วมมือในการเสริมสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศไทยและการบริหารจัดการน้ำเสีย ผ่านหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เสริมสร้างโอกาสทางการเงินภายในประเทศ และพัฒนาโครงการหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Pubic Private Partnership หรือ PPP) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย คุณ คิม ซี ลิม (Kim-See Lim) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ ร่วมลงนาม โดยมี ผู้บริหาร IFC ผู้บริหารการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์การจัดการน้ำเสีย นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอบคุณ IFC ที่ให้ความสำคัญในการทำให้ชาวมหาดไทยได้เป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) การพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย นำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ภารกิจที่ครอบคลุมในทุกตารางนิ้วของประเทศไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าทีมราชการดูแลทุกข์สุขของประชาชนแทนรัฐบาลใน 76 จังหวัด มีนายอำเภอเป็นผู้แทนรัฐบาลทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำท้องที่ใน 878 อำเภอ และมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 6 หน่วยงาน คือ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการรวมกลุ่มในรูปแบบ Cluster บริหารจัดการขยะด้วยการนำขยะไปทำเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าซึ่งเป็นการบริหารจัดการขยะปลายทาง และอีกส่วนหนึ่งคือการจัดการน้ำเสียให้เป็นน้ำที่คุณภาพเหมาะสมก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำจากครัวเรือน ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างองค์การจัดการน้ำเสียและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ทุกส่วนนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีบริการสาธารณะอื่น ๆ ที่ยังพบสภาพปัญหา เช่น ถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศ มีกรมโยธาธิการและผังเมืองดูเรื่องป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลมีภาระที่ต้องบริหารจัดการงบประมาณอย่างจำกัด เพื่อกระจายไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ดังนั้น รูปแบบที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งรัฐบาลพยายามกระตุ้นให้มีในสังคม คือ Pubic Private Partnership (PPP) ซึ่งมีความสำคัญกับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในการที่จะทำให้เกิดบริการสาธารณะที่ดีกับพี่น้องประชาชน รวมทั้งอีก 19 กระทรวงของประเทศไทยด้วย
“ขอขอบคุณที่ทาง IFC มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงมหาดไทยในการที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะและตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนได้มีความสำเร็จและยกระดับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้จะต้องใช้เวลาในการที่จะให้แต่ละหน่วยงานได้มีการพูดคุยในรายละเอียด ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “การเริ่มต้นในวันนี้ จะทำให้เกิดการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนคนไทย” และจะช่วยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสในการช่วยกันทำให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้นกับประเทศไทยของเรา เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสในการที่จะสร้างสิ่งที่ดี ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการดูแลทุกข์สุขและยกระดับการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งได้มีการลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทั่งได้รับเสียงชื่นชมจาก UN ว่าช่วยทำให้สภาวะแวดล้อมของโลกดีขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้สำเร็จ โดยเราสามารถบริหารจัดการขยะต้นทาง คือ ขยะเปียก (Organic Waste) ในระบบปิด ภายใต้ชื่อ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ทำให้เรามีปุ๋ยหมักในการบำรุงพืช และมีผลในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 เราจะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ 1.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก่อนเป้าหมายของประเทศที่ได้ให้พันธสัญญาไว้กับที่ประชุม COP26 คือ 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2573
“เรามีความมุ่งมั่นเป็นหุ้นส่วนที่ดีในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งเรื่องการบริหารจัดการขยะเพื่อความยั่งยืน และการทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นพื้นที่ชุมชน/สังคมที่พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่เราได้ทำไปแล้ว 7,255 หมู่บ้านในปีที่ผ่านมา และตั้งแต่วันนี้ถึงปีหน้าเราจะทำครบทั้ง 80,000 กว่าหมู่บ้าน เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้อยู่ในสังคมที่ดีและมีความสุข มีความปลอดภัย ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ จึงเป็นที่มาที่กระทรวงมหาดไทยมีฉันทามติเปิดประตูให้ IFC เป็นหุ้นส่วนที่ดีของกระทรวงมหาดไทยในด้านการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนระบบสาธารณูปโภคที่ดีและมีคุณภาพให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญในการที่จะช่วยดูแลโลกใบเดียวนี้ของเราให้มีความยั่งยืน ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ประเทศของเราและมวลมนุษยชาติจะได้มีความมั่นคง อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะบังเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ เพื่อที่เราทุกคนจะได้มีความสุขร่วมกันที่เราได้ทำให้เกิดสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
ด้าน คุณ คิม ซี ลิม (Kim-See Lim) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) กล่าวว่า พิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้เป็นก้าวสำคัญของการมีส่วนร่วมของ IFC และกระทรวงมหาดไทย ประเทศไทย ซึ่งเป็นปีที่ 67 ในฐานะสมาชิกของ International Finance Corporation ที่เป็นสถาบันการพัฒนาระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดที่มุ่งเน้นภาคเอกชนในตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ เป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของเราในการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งการให้ความสำคัญในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว (resilience) และการยอมรับความแตกต่าง (inclusion)
“เรามั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะปูทางไปสู่โครงการพัฒนาอื่น ๆ อีกมากมายในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานของเมือง น้ำประปา และระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับกระทรวงมหาดไทย เพราะเราเข้าใจดีถึงบทบาทที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลหน่วยงานย่อยต่าง ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร การประปานครหลวง องค์การจัดการน้ำเสีย และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะในทุกภาคส่วนรวมถึงน้ำและการบำบัดน้ำเสีย ทั้งนี้ IFC มีความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือในการจัดหาเงินทุนให้กับภาคเอกชนโดยทำงานควบคู่ไปกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งริเริ่มด้านความยั่งยืนและเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยเราเห็นศักยภาพการลงทุนในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่น ๆ เช่น พัทยาและภูเก็ต ซึ่งโครงการที่ดำเนินการโดยเอกชน มักถูกจำกัดด้วยนโยบายและคอขวดด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองความท้าทายดังกล่าว ภาครัฐและชุมชนการพัฒนาต้องทำงานและร่วมมือกัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อโครงการของภาคเอกชนให้เจริญเติบโต และการร่วมกันในการส่งเสริมพัฒนาโครงการของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และองค์การจัดการน้ำเสีย จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การร่วมสนับสนุนจาก IFC ในด้านอื่น ๆ ต่อไป” คุณ คิม ซี ลิม กล่าวเพิ่มเติม
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 934/2566 วันที่ 4 ต.ค. 2566