เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประชุมหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือต่อยอด “แพลตฟอร์มกลางข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ในรูปแบบดิจิทัล (DGI-P)” ในการดำเนินงานโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ดร. ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน และคณะผู้บริหารจากกรมการปกครอง เข้าร่วมหารือ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ยุคปัจจุบัน โดยกระทรวงมหาดไทยมีสมรรถนะสูงทั้งในเรื่องของ data และระบบ information ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน โดยการนำข้อมูลจากการสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหมู่บ้านเป็นรายครัวเรือนผ่านแพลตฟอร์ม ThaiQM ที่พัฒนาโดยกรมการปกครอง ทำการ Re X-Ray ข้อมูลครัวเรือนยากจนและครัวเรือนตกเกณฑ์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็จะมีฐานข้อมูลในส่วนของแผนที่ภาษี โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นถนนท้องถิ่น สิ่งปลูกสร้างท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มีฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย ดินถล่ม แผ่นดินไหว น้ำท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก กรมที่ดินก็มีฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน ที่ทำกินของพี่น้องประชาชน และล่าสุดกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำฐานข้อมูลการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขอย่างหลากหลายเพื่อหนุนเสริมการสร้างคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดีอย่างยั่งยืน ทั้งการประมวลรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีอาหารเพียงพอ ปลอดภัย และมีประโยชน์ รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยมี อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลให้ความช่วยเหลือให้ทุกคนสามารถมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุข โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ในเรื่อง “สำมะโนประชากร” เป็นข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนการพัฒนาประเทศอันเป็นพระราชอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์จำนงหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยภายหลังจากการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ยังผลทำให้ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 ได้มีการสำรวจสำมะโนประชากรขึ้นอย่างเป็นทางการโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในช่วงเวลานั้นจะถูกเรียกว่า “สำมะโนครัว” ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลสำมะโนประชากรของกระทรวงมหาดไทยพบว่า ในปัจจุบันมีครัวเรือนของกลุ่มเปราะบาง ประมาณ 4,000,000 ครัวเรือน ครอบคลุมปัญหาความยากจนซึ่งคนมหาดไทยนิยามว่า “ทุกปัญหาความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง” ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา ด้านรายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ อาทิ การไม่รู้หนังสือ การมีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ การไม่มีเลขที่บ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ความยากจน การไม่มีทุนการศึกษา เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสัญชาติไทย รวมจำนวนมากถึงประมาณ 12,000,000 เรื่อง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า กระทรวงมหาดไทยมีฐานข้อมูลด้านประชากรที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทั้งประเทศขนาดใหญ่ที่สุด เป็น Big Data ความยากจนของประเทศ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลไกกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ได้บูรณาการทีมงานจังหวัด และทีมงานอำเภอ แก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ทว่าในขณะเดียวกันเรารู้ว่า เมื่อแก้ปัญหาเก่าก็มักจะเกิดปัญหาใหม่ ๆ เพราะพี่น้องประชาชนจะประสบพบปัญหาในช่วงเวลาที่ต่างกัน และอาจจะพบปัญหาภายหลังจากเราได้สำรวจเมื่อปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในช่วงเวลานี้เอง ก็เป็นช่วงเวลาที่กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ดำเนินการ Re X-Ray ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราได้มีข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำข้อมูลมาใช้พิจารณาในทางบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างครบถ้วนทุกมิติอย่างสมบูรณ์” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้แชร์ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน โดยสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง คือ หน่วยงานที่เป็นผู้รับข้อมูลจะต้องมีความมั่นคงปลอดภัยในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารและกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างครบถ้วน รวมทั้งพิจารณาพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบไฮบริด (Hybird) ทั้งการใช้การสำรวจแบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายควบคู่กับการใช้แพลตฟอร์มสำรวจ เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กล่าวขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ได้ให้การสนับสนุนด้านข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนา แพลตฟอร์มกลางที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องแอปพลิเคชัน ThaiD (ไทยดี) โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะนำสิ่งที่ดีที่กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาขึ้นนี้มาขับเคลื่อนเป็นแผนงานหลักเชื่อมโยงควบคู่กับแผนงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สนองตอบนโยบายรัฐบาลและการพัฒนาประเทศต่อไป
ด้าน ดร. ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า แพลตฟอร์มกลางข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ในรูปแบบดิจิทัล (DGI-P) เป็นแพลตฟอร์มให้บริการสารสนเทศเชิงพื้นที่ในการบูรณาการข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งการจัดสวัสดิการและสาธารณูปโภคให้เพียงพอในแต่ละพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง การบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชน กรณีเกิดภัยพิบัติ/บริการเตือนภัยแบบเจาะจง มีการวางผังเมือง เพื่อพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยและยินดีที่จะให้ความร่วมมือทั้งในเรื่องของสถิติและข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงที่มีข้อมูลพื้นฐานในเชิงพื้นที่มากที่สุด และทางสำนักงานสถิติแห่งชาติจะนำคำแนะนำที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้แลกเปลี่ยนในวันนี้ไปสู่การหารือและประสานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน คือ ทำให้เกิดแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1045/2566 วันที่ 3 พ.ย. 2566