วันนี้ (22 พ.ย. 66) ที่แซนด์ เอ็กซ์โป แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ (Sands Expo & Convention Centre) สาธารณรัฐสิงคโปร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 13 (13th AMRDPE) “การเสริมสร้างความเข้มแข็งโดยใช้ชุมชนเป็นฐานรากและการคุ้มครองทางสังคมเพื่อการบรรเทาความยากจน” โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
โอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ ความว่า จากการสำรวจความยากจนในประเทศไทย ปี 2566 พบว่ามีการลดลงอย่างมากจากที่เราบันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) ซึ่งครอบคลุมถึงรายได้ การดูแลสุขภาพ การศึกษา มาตรฐานการครองชีพ และการเข้าถึงบริการสาธารณะก็ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2564 แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการขจัดความยากจนในประเทศไทย ภายหลังจากที่เราได้เผชิญความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เราได้ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ
“รัฐบาลไทยได้นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) เชื่อมโยงยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติของในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขจัดความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันเฉกเช่นรัฐบาลของทุกประเทศ ซึ่งตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลกระทรวงอื่น ๆ อีก 3 กระทรวง คือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการและทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมี 3 เสาหลักที่ช่วยให้เราบรรลุภารกิจนี้ได้ คือ “ปรับปรุงสวัสดิการ เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส” โดยเสาหลักที่ 1 ประเทศไทยได้ปรับปรุงสวัสดิการสำหรับความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำประปา และไฟฟ้า รวมถึงอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น รวมถึงการปรับปรุงโครงการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่องและขยายออกไปให้มากที่สุด รวมทั้งเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการสวัสดิการเหล่านี้เป็นเสาหลักในการจัดการกับความยากจนและประกันคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั่วประเทศ สำหรับเสาหลักที่ 2 การเพิ่มรายได้ โดยในภาคเกษตรกรรม ประเทศไทยมีนโยบายที่จะนำแนวทาง Smart Farming มาใช้ โดยใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในการวางแผนการผลิตให้ดีขึ้นตามบริบทของความท้าทายทางภูมิศาสตร์และตลาดในแต่ละปี และได้จัดตั้ง Matching Fund เพื่อส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนา startup เปิดประตูใหม่สู่ตลาดใหม่ และเสาหลักที่ 3 การขยายโอกาส ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งที่จะหนุนเสริมการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้สนับสนุนให้คนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่แสดงถึงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หัตถศิลป์ หัตถกรรมของพวกเขา ผ่านกลไก “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)” ซึ่งใช้ระยะเวลาอย่างยาวนาน และในขณะนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการต่อยอดสร้างสรรค์และหนุนเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยโดยรวมผ่านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ บริการและอื่น ๆ อีกมากมาย” นายอนุทินฯ กล่าว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีสำนักงานทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และทีมตำบล รับผิดชอบการปฏิบัติงาน ซึ่งกลไกนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนของไทยจะได้รับการปฏิบัติและติดตามอย่างดี โดยประเทศไทยยินดีที่ร่วมแลกเปลี่ยน รวมทั้งยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้ยืนยันถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 14 ในปี พ.ศ. 2568 อีกด้วย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1130/2566 วันที่ 22 พ.ย. 2566