วันนี้ (26 พ.ย. 66) เวลา 14.00 น. ที่ห้องบอลรูม ชั้น 5 โรงแรมโรสวูด เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานงานแถลงข่าวโครงการ Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมแถลงข่าว โดยมีคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน สื่อมวลชน และภาคีเครือข่าย ร่วมในงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทยรวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนต่างซาบซึ้งในพระปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมุ่งสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมผ้าไทย งานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย อันสะท้อนเป็นที่ประจักษ์อย่างมิรู้ลืม คือ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ในวโรกาสที่ทรงเป็นองค์ประธานเปิดงาน OTOP City 2020 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พระองค์ได้พระราชทานแบบลายผ้าพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เปรียบประดุจแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะภายหลังชาวบ้านช่วยกันทอผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ออกมาขาย ก็ทำให้เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ยอดขายผ้าไทยที่ถล่มทลายมาก ขายดิบขายดี ทำให้มีรายได้หมุนเวียนเพิ่มขึ้นกว่า 50,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการทอผ้าได้รอดตายจากภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีอย่างหาที่สุดมิได้ และเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในวงการผ้าไทย
“สิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานมาให้ตลอด 3 ปี เป็น Soft power ที่แท้จริง ด้วยการพัฒนาคนในวงการงานหัตถกรรม งานผ้า ให้เห็นการผ่าทางตัน สามารถผ่าทางตันการทอผ้าแต่รูปแบบดั้งเดิม (Traditional) และที่สำคัญที่สุดทรงเน้นย้ำ คือ แนวพระดำริแฟชั่นแห่งความยั่งยืน (Sustainable Fashion) โดยช่างทอผ้า ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยทรงยุยงให้ชาวบ้านปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และเลือกใช้สีธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำลังขับเคลื่อน คือ เรื่องของ ความยั่งยืน (Sustainable) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันแรกที่พระองค์เสด็จทรงงานเรื่องผ้าไทยเมื่อ 3 ปีก่อน พระองค์จะปฏิเสธการรับการถวายผืนผ้าที่ทำจากสีเคมี และทรงอธิบายว่า อยากให้ใช้สีธรรมชาติเพราะสีเคมีเป็นพิษเป็นภัยกับคนที่ทำ เพราะในกระบวนการย้อมผ้าชาวบ้านจะใช้นิ้วมือสด ๆ ไม่ได้ใส่ถุงมือในการย้อมผ้า ทำให้สารพิษ สารเคมี ซึมเข้าสู่ร่างกาย และคนที่สวมใส่ก็จะได้รับสารพิษจากสีเคมีที่ใช้ย้อมผ้า จนทำให้ในปีที่ 2 ชาวบ้านเริ่มหันมาใช้สีเคมีมากขึ้น และในปีที่ 3 ทุกกลุ่มก็ใช้สีธรรมชาติ จนกระทั่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ยื่นขอรับรอง Carbon Footprint การผลิตผ้าไทยด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ให้งานผ้าได้รับการรับรอง Carbon Credit ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับช่างทอผ้าทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนผ้าไทยครอบคลุมครบวงจร กล่าวคือ 1) “ต้นน้ำ” โดยทรงส่งเสริมหลักการพึ่งพาตนเอง และพระราชทานแนวทางการนำภูมิความรู้ ภูมิปัญญา ที่ตกทอกจากบรรพบุรุษมาต่อยอดให้สามารถตอบสนองต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพได้ 2) “กลางน้ำ” พระองค์ได้พระราชทาน “คณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่เกิดจากการรวมตัวของดีไซเนอร์จิตอาสา และผู้มีผลงานโดดเด่นด้านแฟชั่น ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ ไป coaching ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทยในทั่วประเทศ เพื่อผ่าทางตันของคำว่าอนุรักษ์ สู่ความร่วมสมัยและสอดคล้องต่อความต้องการของตลาดผ้าทั่วประเทศและทั่วโลก และ 3) “ปลายน้ำ” พระองค์ได้พระราชทานแนวทางในการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และเรื่องราวประวัติที่มา (Story Telling) ให้ผลงานนอกจากมีคุณภาพแล้วก็มีคุณค่าที่จะเลือกซื้อเลือกหาไปสวมใส่ พร้อมทั้งพระราชทานแนวทางในการพัฒนาส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นผ่านศูนย์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชุมชน บริหารจัดการโดยชาวบ้าน โดยมีตัวอย่างที่สำคัญ คือ “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาส ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา นอกจากนี้ พระองค์ท่านทำให้คนเปิดใจรับเทรนใหม่ ๆ รับ konwledge ใหม่ ๆ จากดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า เกิด success คือเขามีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความภาคภูมิใจต่อชีวิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ได้มาต่อยอดเรื่องความยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันมีเป้าหมายคือประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ดังตอนหนึ่งของพระปฐมบรมราชโองการ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งอนาคตประชาราษฎรตลอดไป” นอกจากนี้ ผ้าไทยและหัตถกรรมไทยเป็นงานเดียวที่ไม่เคยเรียกเราจากรัฐบาลในการที่จะให้ประกันราคา ไม่เคยมีที่รัฐบาลต้อง subsidize แต่เป็นงานที่เกิดจากภูมิปัญญาที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษและเจริญงอกงามเพราะเราสามารถทำได้อย่างดี อันเกิดจากพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านบวกกับความจงรักภักดีที่คนไทยมีต่อพระองค์ท่าน พระดำริ Sustainable Fashion เป็นเครื่องการันตีผ้าที่เกิดจากฝีไม้ลายมือของพวกเรา ว่าผืนผ้าไทยตามพระดำริฯ ทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยื
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอเชิญร่วมงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Silk Success Sustainability ร่วมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และนิทรรศการผลสำเร็จจากโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ การแสดงแบบภูมิปัญญาผ้าไทยร่วมสมัย (Sustainable Fashion) จากไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 3 ธ.ค 66 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของประชาชนคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทยทั่วประเทศ ที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานทั้งปวงของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงมุ่งหวังที่จะทำให้ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทยทั่วประเทศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืน
“สมาคมแม่บ้านมหาดไทยน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ขับเคลื่อนผ่านประธานแม่บ้านมหาดไทย 76 จังหวัด โดยอิงกับปลายน้ำ คือ การนำผ้ามาออกแบบตัดเย็บให้สวยงาม นับหมื่นนับแสนเมตร ซึ่งเร็ว ๆ นี้ จะมีการประกวดเดินแบบของเหล่าบรรดาประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ที่จะต้องนำผลงานที่ตัดเย็บขึ้นมาใหม่ อันมีที่มาจากในพื้นที่ ออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัย ให้ผ้าไทยใส่ให้สนุก ทำให้ใครเห็นแล้วอยากใส่ และเป็นผ้าที่ย้อมจากสีธรรมชาติตามเทรนด์ Sustainability ทั้งนี้ แนวพระดำริ Sustainable Fashion มิได้เกิดประโยชน์แค่กับพวกเราคนไทยเท่านั้น เพราะคุณกีต้า ซับบระบาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งได้ตามเสด็จ ในการทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในภูมิภาคทุกครั้ง ได้นำพระดำริ Sustainable fashion นำเสนอที่ประชุมใหญ่ UN เพราะ UN ได้เห็นแล้วว่า พวกเราชาวมหาดไทยและแม่บ้านมหาดไทยต่างสนุกสนานกับการขับเคลื่อนพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย ต่างมุ่งมั่นในการต่อยอดผ้าไทยสู่ Next Gen. ตามพระดำริตลอดเวลา จนทำให้ทุกวันนี้พี่น้องสมาชิกทอผ้า เช่น กลุ่มบ้านดอนกอย สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนจากเดิม 700 บาท/คน/เดือน เพิ่มเป็น 15,000 – 20,000 บาท/คน/เดือน เป็นต้น สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจน การพึ่งพาตนเอง และความยั่งยืน โดยในงาน Silk Festival 2023 ที่กำลังจะถึงนี้ ทุกท่านก็จะได้เห็นความสำเร็จและพัฒนาการของผ้าไทยโดยฝีมือคนไทยทั่วประเทศ จึงขอเชิญร่วมงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Silk Success Sustainability ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 3 ธ.ค. 66 ณ ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี โดยพร้อมเพรียงกัน” ดร.วันดีฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายให้พัฒนากรไปเก็บข้อมูลจปฐ. ครัวเรือนที่ได้น้อมนำพระดำริ Sustainable ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาขับเคลื่อนพัฒนาตนเอง พบว่า ในปีที่ผ่านมา ไม่มีครัวเรือนไหนตกเกณฑ์ด้านรายได้เลย ขอยืนยันว่า พระดำริฯ ทำให้ชาวบ้านพ้นจากความยากจนทุกหลังคาเรือน แม้แต่ครัวเรือนที่ไม่ได้ทอผ้าแต่ทำเรื่องต้นน้ำ เช่น ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกพืชให้สีธรรมชาติ โดยครัวเรือนที่เลี้ยงไหม จากเดิมขายกิโลกรัมละ 1,000 บาท ราคาขึ้นมากิโลกรัมละ 2,000 บางช่วง 3,000 บาท และต้องจองเป็นเวลาล่วงหน้า 3 เดือน แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า สิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานเกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจฐานราก และงาน Silk Festival 2023 ที่กำลังจะมีขึ้นนี้ จะทำให้ผู้ร่วมงานได้เห็นถึงสุดยอดผลงานหัตถศิลป์หัตถกรรมชั้นบรมครู อันเกิดจากพระปรีชาชาญของพระองค์ท่าน จึงขอเชิญชวนไปร่วมงานโดยพร้อมเพียงกัน
ด้าน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า งาน Silk Festival 2023 เป็นงานที่จัดแสดงการรังสรรค์ผลงานสุดประณีตสะท้อนศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทยไว้อย่างสมบูรณ์นำไปสู่ Soft Power ด้านผ้าไทยอย่างแท้จริง มีบูทผู้ประกอบการ 200 กลุ่ม โดย 170 กลุ่มเป็นผู้ได้รับการชนะเลิศประกวดผ้าพระราชทาน กลุ่ม Young OTOP และ Premium OTOP ซึ่งในแต่ละบูทจะมี QR Code และมี E-catalog E-Book Online ซึ่งผู้ซื้อสามารถเลือกและสั่งจองผ่านออนไลน์ได้ ทุกท่านจะได้พบกับสุดยอดผลงานภาคที่ได้รับการพัฒนาจากการน้อมนำพระดำริ จะได้เห็นว่า เมื่อคุณภาพไป matching กับราคา มันก็ไม่มีคำถามว่าถูกหรือแพง เพราะการพัฒนาของเราจบที่คุณภาพ นอกจากนี้ ในงานจะมีการ workshop ทุกวันวันละ 3-4 กิจกรรม ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการและเลือกซื้อผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ชั้นสูง และอาหารจากร้านดังทั่วประเทศได้ในงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอบถามเพิ่มเติมโทร. 081-877-6969
โดยในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ได้มีการเสวนาเกี่ยวกับตัวอย่างผลสำเร็จและสิ่งที่จะนำเสนอภายในงานโดยเหล่าดีไซเนอร์ที่ยืนยันว่า งาน Silk Festival 2023 ครั้งนี้จะทำให้ดีไซเนอร์ไทยทั่วประเทศมีความคึกคัก ที่จะได้ร่วมกันทำหน้าที่ส่งต่อ inspiration ของวงการผ้าไทยให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อไป ด้วยความสนุกและทำให้เกิดความตื่นตา ตื่นใจ ตื่นตัว ของการใช้ผ้าไทยที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และจะทำให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมงานจะต้องหลงใหลในผืนผ้าไทย และทำให้วงการผ้าสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1148/2566 วันที่ 26 พ.ย. 2566