วันนี้ (2 ธ.ค. 66) เวลา 14.00 น. ที่เวทีกลาง งาน Silk Festival 2023 เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล และหนังสือลายดอกรักราชกัญญา โดยมี ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ ผู้ประกอบการ ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ร่วมงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หนังสือทั้ง 4 เล่มนี้ ล้วนสะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงเพียบพร้อมและทรงแสดงออกให้ปรากฏซึ่งพระกตัญญูกตเวทิตาคุณที่ทรงมีต่อล้นเกล้าฯ ทั้ง 3 พระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การต่อยอด” งานหัตถศิลป์ หัตถกรรมทั้งปวง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทุกพระองค์ทรงตั้งเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรไทยทุกคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงเป็นนักบริหารด้วยทรงวิเคราะห์แล้วว่า สิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงฟื้นฟูอาชีพช่างทอผ้าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เป็นอาชีพใช้ทำมาหากินพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนไทยมากว่า 70 ปีนั้นเป็น “จุดแข็งของคนไทย” อันหมายถึงเรื่องภูมิปัญญาผ้าไทย ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยที่ก่อให้เกิดรายได้ ส่งผลให้เกิดศูนย์ศิลปาชีพและมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนเรียกได้ว่าการใช้ผ้าไทยในยุคนั้นเฟื่องฟูมาก จนกระทั่งในภายหลังเมื่อ 5 – 6 ปีก่อน กระแสผ้าไทยกลับถดถอย เพราะกระแสนิยมแฟชั่นผ้าต่างประเทศเริ่มเข้ามามีผลต่อความต้องการของคนไทย แต่พระองค์มิได้ทรงย่อท้อ แต่ยิ่งทำให้พระองค์ทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะใช้พระปรีชาสามารถมาวิเคราะห์ว่า จุดแข็งของคนไทยยังอยู่ นั่นคือ “คนไทยมือเย็น” ดังที่บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศต่างชื่นชมชื่นชอบฝีไม้ลายมือของคนไทยที่ล้วนมีแต่ความประณีตบรรจง โดยพระองค์ได้ทรงลงมาพระราชทานแนวทางการต่อยอดผ้าไทยเมื่อปี 2563 ในช่วงที่พี่น้องกลุ่มศิลปาชีพและกลุ่ม OTOP กำลังประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 จนเรียกได้ว่า “พระองค์ทรงมาพร้อมแสงสว่างแห่งปัญญา” สาดส่องกลางอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ที่ได้พระราชทานลายผ้าแบบใหม่ที่มีรากเหง้ามาจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ คือ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และพระราชทานแนวพระดำริว่า “ผ้าไทยยังไงก็วิเศษสุด เพราะเกิดจากจิตวิญญาณคน ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทอเอง ย้อมสีเอง” ขณะเดียวกันพระองค์ได้พระราชทานพระดำริ ถึงแม้ว่าผ้าไทยเราจะวิเศษสุด แต่ “แฟชั่น” คือ การทำให้ถูกใจคน ทั้งเรื่องสี เรื่องการออกแบบตัดเย็บ บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ประวัติเรื่องราว (Story Telling) และการตลาด (Marketing) จึงจะทำให้การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทยประสบความสำเร็จ โดยได้พระราชทานพระดำริให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกลงไป coaching สิ่งที่จะทำให้ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ผ้าได้มีการพัฒนาแนวทางอาชีพให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า สำหรับ “เล่มที่ 1 คือ หนังสือสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา” สมุดภาพประวัติศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประมวลรวบรวมการเสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจและทรงเยี่ยมราษฎร 4 ภูมิภาค โดยพระราชทานขวัญและกำลังใจแก่ช่างทอผ้าทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่พระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นของไทยให้มีความร่วมสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผ่านแนวคิด Sustainable Fashion และผลสัมฤทธิ์ของโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่ประจักษ์ชัด สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทรงเป็น Momentum for Change ที่สำคัญในการทำให้คนไทยมีความสุข “เล่มที่ 2 หนังสือเครื่องสานไทย” รวบรวมภูมิปัญญาการจักสานพื้นถิ่นที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรม ผ่านผลงานเครื่องจักสานชิ้นเอกที่มีความร่วมสมัยเป็นสากลที่เกิดจากการร่วมบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างช่างจักสานจากทุกภูมิภาคของประเทศ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อเผยแพร่คุณค่าของเครื่องสานไทย เสริมสร้างและยกระดับศักยภาพช่างจักสานไทยสู่การส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยทุกวันนี้เครื่องจักสานไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้อย่างอเนกอนันต์ ทั้งใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ในการตกแต่งโรงแรมและสถานที่ต่าง ๆ เราจึงได้นำเรื่องราวเครื่องจักสานมาประมวลรวบรวมไว้ “เล่มที่ 3 หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล” ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันหลากหลายในพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นจุดกำเนิดผ้าบาติกผืนงาม เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างช่างบาติกในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผ้าไทย นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา สร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์บาติกที่มีเอกลักษณ์และร่วมสมัย เริ่มต้นจากการฟื้นฟูภูมิปัญญาการออกแบบลวดลายและเทคนิคพื้นถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดให้มีความร่วมสมัย เสริมด้วยการตลาดยุคใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกชุมชน สร้างโอกาสในการขยายตลาดเชิงพาณิชย์สู่ตลาดสากล และ “เล่มที่ 4 หนังสือลายดอกรักราชกัญญา” ถ่ายทอดบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทย ตามแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ภายใต้โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม เพื่อยกระดับและศักยภาพผู้ประกอบการ ช่างทอผ้าและช่างหัตถศิลป์ไทยในทุกภูมิภาคของประเทศ ให้สามารถสร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างผู้ประกอบการ ช่างทอผ้าและช่างหัตถศิลป์ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผ้าไทย นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา สร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา เกิดเป็นผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่งดงามไปด้วยภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ถูกฟื้นคืน นอกจากนี้ยังมีหนังสือพระนิพนธ์อีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงถึงพระอัจฉิยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ และหนังสือทั้ง 4 เล่มจะเป็น “คู่มือของชีวิต” ที่สะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนให้อยู่คู่กับพี่น้องประชาชน เมื่อประชาชนมีความสุข พระองค์ท่านทรงมีความสุขยิ่งกว่า
“นับเป็นความโชคดีที่คนมหาดไทยและพี่น้องชาวไทยทุกคนได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที นอกเหนือจากการบอกเล่าข้อเท็จจริง ด้วยการจัดพิมพ์ “หนังสือ” อันเป็นสิ่งบันทึกจารึกประวัติศาสตร์ว่า การประทับรอยพระบาทในหมู่บ้าน/ชุมชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราคิดไม่ถึง และยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนรวมกลุ่มดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน ทำให้หมู่บ้านมีความรักความสามัคคีและมีสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนต้องช่วยกันเผยแพร่องค์ความรู้และสิ่งดี ๆ เหล่านี้อย่างแพร่หลายและให้ขยายไปทั่วโลกต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า Silk, Success และ Sustainability เป็นคำ 3 คำที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพและความสำเร็จอันเป็นที่ประจักษ์ถึงพระกรณียกิจที่ทรงตรากตรำพระวรกายทำงานอย่างหนักมาตลอด 3 ปี อันเป็นที่ชัดเจนมากว่าทุกคนรู้จักลายผ้าพระราชทาน ทำให้ในช่วง 3 ปีที่มีผู้คนต้องตกงานและกลับบ้าน พระองค์ทรงเป็นแสงสว่างทำให้อาชีพเกี่ยวกับผ้าไทยกลับมามีชีวิตในลักษณะการต่อยอดอย่างยั่งยืน เราเห็นยอดขายผ้าลายพระราชทานกว่า 52,000 ล้านบาท มีคนได้รับประโยชน์กว่า 100,000 กลุ่มทั่วประเทศ และผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยพร้อมด้วยคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุกก็เดินสายทั่วประเทศไปฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพช่างทอผ้า ผู้ประกอบการอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
“เป็นบุญของแผ่นดิน นับเนื่องแต่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงรื้อฟื้นเรื่องผ้าไทย แต่ในช่วง 5 – 6 ปี หลังจากทรงประชวร ทำให้ถดถอยลง แต่หัตถศิลป์หัตถกรรมไทยยังมีความหวัง เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด ทำให้ผ้าไทยกลับฟื้นมาใหม่ในรูปแบบไม่เหมือนเดิม เรียกว่า “ต่อยอด” เพราะทรงทำในเรื่องพัฒนาลวดลาย สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าที่ผ่านการ coaching ทั้งคุณภาพ ลวดลาย และสีสัน จนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าขายดิบขายดี ส่งผลให้เกิด “Success” คือความสำเร็จ อันเกิดจากสิ่งที่พระองค์พระราชทานให้ ทั้ง Knowledge (องค์ความรู้) ดังหนังสือที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์และพระราชทาน เช่น Trendbook ที่ทรงย้ำให้ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการได้คิดคำนึงถึงความทันสมัย ทั้งเรื่องลวดลาย ที่สามารถปรับ ลด ย่อ ผสมผสานลวดลายให้มีความทันสมัย ควบคู่กับ Effort (ความพยายาม) ที่จะก้าวไปสู่สิ่งที่ตั้งใจ ทำให้ผ้าไทยกลับมามีชีวิตในรูปแบบการต่อยอดให้เกิดสิ่งที่ดี ให้ได้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง จนทำให้ตนเองและครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หนังสือถือเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่รวบรวมความรู้ ซึ่งถ้าเรามีความรู้จะไม่มีวันอดตาย เช่น ที่บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ที่พระองค์ได้พระราชทานองค์ความรู้ให้กับกลุ่มชาวบ้าน โดยเฉพาะการใช้ลวดลายที่สามารถนำลวดลายดั้งเดิมมาปรับขนาดให้เล็กลง การย้อมสีที่ไม่จำเป็นต้องใช้ 10 น้ำ แต่สามารถลดหลั่นระดับสี ให้มีความหลากหลายสีสัน หลากหลายความสวยงาม จนทุกวันนี้ทำให้กลุ่มดอนกอยจากเคยมีรายได้ 700 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 บาท/เดือน และยังมียอดจองที่มากมายจนทุกวันนี้” ดร.วันดีฯ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการทำหนังสือ เพราะการจัดทำหนังสือต่าง ๆ เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้รับการบูรณาการโดยผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบหลากหลายสาขาตามแนวทางของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เริ่มต้นด้วยองค์ความรู้ของชุมชน บันทึกองค์ความรู้ต้นแบบสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร ฟื้นคืนภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้มีความร่วมสมัย เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน โดยหนังสือทั้ง 4 เล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มล่าสุดที่กระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชน ได้รังสรรค์ขึ้น โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือทั้ง 4 เล่ม รวมถึงหนังสือเล่มอื่น ๆ ในรูปแบบดิจิทัลได้ที่ https://www.facebook.com/phathaisaihaisanook
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1172/2566 วันที่ 2 ธ.ค. 2566