เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 66 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 11 โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 4,570.557 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 86,067 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 78,458 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 7,609 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 55,853 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1. กรุงเทพมหานคร ยังมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 5,533 ราย เจ้าหนี้ 4,309 ราย มูลหนี้ 384.313 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 3,635 ราย เจ้าหนี้ 2,682 ราย มูลหนี้ 195.343 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,482 ราย เจ้าหนี้ 2,296 ราย มูลหนี้ 202.917 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,383 ราย เจ้าหนี้ 1,961 ราย มูลหนี้ 226.356 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,149 ราย เจ้าหนี้ 1,486 ราย มูลหนี้ 131.785 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 115 ราย เจ้าหนี้ 73 ราย มูลหนี้ 4.657 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 173 ราย เจ้าหนี้ 118 ราย มูลหนี้ 13.03 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 245 ราย เจ้าหนี้ 167 ราย มูลหนี้ 7.408 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 276 ราย เจ้าหนี้ 133 ราย มูลหนี้ 7.401 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 315 ราย เจ้าหนี้ 188 ราย มูลหนี้ 11.813 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ปรากฏข่าวคุณยายยุพิน (นามสมมติ) ได้เดินทางจากจังหวัดอุตรดิตถ์เข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า สามีตัดสินใจผูกคอเสียชีวิต เพื่อนำเงินฌาปนกิจมาใช้หนี้เงินกู้นอกระบบ ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ในวันนี้ นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุทธิพงศ์ เป๊กทอง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ นายประเดิม เดชายนต์บัญชา นายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของคุณยายร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และรายงานมายังกระทรวงมหาดไทยทราบ โดยจากการลงพื้นที่ได้พบน้องสาวของคุณยาย และมีเด็กที่เป็นลูกของลูกสาวคุณยาย 2 คน คนโต กำลังเรียนชั้น ม.5 คนเล็กกำลังเรียนชั้นอนุบาล 3 ซึ่งในเบื้องต้นทาง พมจ. จะให้การช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุภาวะฉุกเฉิน และเงินกองทุนคุ้มครองเด็กแก่ทั้ง 2 คน นอกจากนี้น้องสาวของคุณยายยังแจ้งกับคณะฯ ว่า ตนเองก็เป็นหนี้นอกระบบเหมือนกันแต่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ส่วนคุณยายกับเพื่อนได้ไปลงทะเบียนแล้ว ก็พากันไปร้องสื่อมวลชนต่อ เพื่อหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ให้ โดยในขณะพูดคุยก็มีคนทวงหนี้นอกระบบรายหนึ่งโทรมาหาน้องสาวคุณยาย ทราบว่าคุณยายเคยเป็นหนี้รายนี้ด้วยแต่ใช้หนี้ไปแล้วหลังจากคุณตา (สามีของคุณยาย) เสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยได้รับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอกับการใช้หนี้และน้องสาวคุณยายยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คุณยายมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ
“ทั้งนี้ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์การเสียชีวิตของสามีคุณยาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ วันเกิดเหตุ พบว่ายังไม่มีญาติแจ้งมูลเหตุเรื่องหนี้นอกระบบ กระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 คุณยายได้มาแจ้งลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับคุณยายว่า ทางอำเภอจะเชิญเจ้าหนี้มาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้โดยเร็วที่สุด จากนั้นคุณยายยังได้มีการสอบถามถึงเรื่องเงินดิจิทัลว่าจะได้รับช่วงเวลาใดเพื่อตนจะนำไปใช้หนี้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลว่าจากการติดตามข่าวสารอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย จึงอาจทำให้คุณยายเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เรื่องระยะเวลาการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกับเรื่องเงินดิจิทัลเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้ ในกรณีคุณยายยุพิน (นามสมมติ) ทางจังหวัดและอำเภอได้พบตัวเจ้าหนี้แล้ว 1 ราย และคนทวงหนี้ 1 ราย ซึ่งได้ทำการสอบสวนแล้ว โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวังกะพี้จะได้ขยายผลติดตามเจ้าหนี้และคนทวงหนี้รายที่เหลือมาสอบสวนต่อไป พร้อมกันนี้ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับเจ้าหนี้และคนทวงหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยทวงหนี้และกฎหมายว่าด้วยเงินกู้ โดยในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค. 66) หลังจากคุณยายเดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองอุตรดิตถ์จะได้เชิญมาพูดคุยถึงแนวทางการไกล่เกลี่ยหนี้ร่วมกับเจ้าหนี้ในช่วงบ่ายต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำในการประชุมมอบนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแล้วว่า ทุกพื้นที่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ด้วยการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มากำหนดมาตรการและเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ได้ทันที ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ในครั้งนี้ รวมทั้งจากการรายงานการปฏิบัติของจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชน พบว่าในหลายพื้นที่สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี และในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อทบทวนกระบวนการ/ขั้นตอนการทำงานและกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย
“กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอร์คอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1212/2566 วันที่ 11 ธ.ค. 2566