วันนี้ (6 ม.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 37 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 7,775.012 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 119,178 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 102,866 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 16,312 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 88,281 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 7,435 ราย เจ้าหนี้ 6,483 ราย มูลหนี้ 689.345 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,010 ราย เจ้าหนี้ 4,338 ราย มูลหนี้ 326.494 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 4,609 ราย เจ้าหนี้ 3,426 ราย มูลหนี้ 296.570 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,544 ราย เจ้าหนี้ 2,935 ราย มูลหนี้ 344.008 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 3,175 ราย เจ้าหนี้ 2,616 ราย มูลหนี้ 242.208 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 182 ราย เจ้าหนี้ 145 ราย มูลหนี้ 9.338 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 247 ราย เจ้าหนี้ 167 ราย มูลหนี้ 17.696 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 317 ราย เจ้าหนี้ 226 ราย มูลหนี้ 10.051 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 395 ราย เจ้าหนี้ 287 ราย มูลหนี้ 17.226 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 430 ราย เจ้าหนี้ 286 ราย มูลหนี้ 20.820 ล้านบาท
“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ พบว่ามีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 6,648 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 1,701 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 504.175 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 215.465 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 288.710 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 2,684 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 50 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 207.500 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 3.431 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัด ลดลงมากถึง 204.069 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้ทั่วประเทศมีการดำเนินคดีไปแล้ว 32 ราย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนทุกหน่วยงาน ทุกภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ร่วมกันประชาสัมพันธ์รับลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกันก็ได้เดินหน้าเชิญเจ้าหนี้ ลูกหนี้ มาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ และประสานสถาบันการเงินของรัฐในพื้นที่ ร่วมพิจารณาแนวทางในการให้การช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมด้วยการจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของลูกหนี้ ด้วยการสนธิกำลังฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ สมาชิก อส. ชรบ. กม. ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ความไม่สงบ อันเกิดจากการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หากการเจรจาไม่เป็นผล และเจ้าหนี้ยังคงยืนยันที่จะกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีละเว้น โดยหากเจ้าหนี้ที่จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกลับเป็นบุคลากรภาครัฐเสียเอง ก็จะต้องถูกดำเนินการตามระเบียบของทางราชการและหน่วยงานต้นสังกัดในทางวินัยด้วย เพราะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายของประเทศ
“พี่น้องประชาชนยังคงสามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ debt.dopa.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถมาลงทะเบียนด้วยตัวเองที่หน่วยงานราชการ คือ ที่ว่าการอำเภอ ศาลากลางจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ และสำนักงานเขต 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 23/2567 วันที่ 6 ม.ค. 2567