วันนี้ (9 ก.พ. 67) นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยถึงประเด็นการอภิปรายซักถามของนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เกี่ยวกับการความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการผลิตไฟฟ้าจากขยะ และการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างกำจัดขยะเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าในหลายองค์การบริหารส่วนตำบล โดยตั้งข้อสังเกตว่าแต่ละโครงการก็งบประมาณหลักพันล้านบาท เป็นสัญญาจ้างยาวหลายปี และการประกวดราคามีการกำหนดคุณสมบัติให้เฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ผลิตไฟฟ้าจากขยะเท่านั้น
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทุนดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ และสร้างรายได้จากพลังงาน ลดต้นทุนค่ากำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ได้กำหนดให้การเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยนั้น ราชการส่วนท้องถิ่นจะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น รวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเอกชนเป็นผู้ดำเนินการหรือทำร่วมกับราชการส่วนท้องถิ่นก็ได้
“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงได้จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาพรวมของประเทศ และมีแนวทางในการรวมกลุ่มพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการมูลฝอย (Clusters) เพื่อการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ กำหนดนโยบายและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ในการกำจัดขยะตามกฎหมายในการใช้เทคโนโลยีการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ เป็นสากล อาทิ การแปรขยะเป็นเชื้อเพลิงและเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทำโรงกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดขั้นตอนการพิจารณาโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสงค์จะดำเนินโครงการต้องจัดทำข้อเสนอโครงการตามหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ 11 ข้อ ได้แก่ 1. ที่ตั้งโครงการ 2. กรรมสิทธิ์ที่ดิน 3. เหตุผลความจำเป็นและขอบเขตของโครงการ 4. ต้นทุนการดำเนินการในภาพรวม 5. รูปแบบและระยะเวลาการมอบหมายให้เอกชนดำเนินการ 6. ประมาณการผลตอบแทนด้านต่าง ๆ 7. ผลกระทบซึ่งครอบคลุมทั้งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมจากการดำเนินการ 8. ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและแนวทางการบริหารความเสี่ยง 9. ความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้จัดทำข้อเสนอโครงการ 10. ความเหมาะสมด้านเทคนิค เทคโนโลยี และ 11. การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” นายขจรฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวต่ออีกว่า ภายหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามเห็นชอบโครงการฯ ถือเป็นการสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปอยู่ในการพิจารณาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ้าของโครงการฯ ที่จะต้องไปดำเนินการหาเอกชนมาลงทุน โดยนําหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ใช้วิธีการประมูลก่อน และเมื่อได้เอกชนที่เป็นคู่สัญญากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในส่วนของการขอรับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า และขอใบอนุญาตก่อสร้างโครงการต่อไป ซึ่งจะต้องถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการพลังงาน
“สำหรับขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ด้านการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน โดย กกพ. จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ กระบวนการ และกรอบระยะเวลาให้เอกชนคู่สัญญากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ คือ 1. การยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า 2. การประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติและความพร้อมในการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 3. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ ด้านที่ 2 ด้านการขอใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน ได้กำหนดเงื่อนไข 3 ลักษณะ คือ 1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง (เอกชนคู่สัญญาฯ) จะต้องถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการพลังงาน ทั้งในเรื่องของการจัดทำรายงาน “ประมวลหลักการปฏิบัติ” (Code of Practice : CoP) ซึ่งจะเป็นการจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EIA) และประกาศ กกพ. เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ 2. ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP) เป็นเงื่อนไขที่ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าฯ จะต้องดำเนินการเพื่อใช้ประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานจาก กกพ. ในการปฏิบัติตาม CoP ที่มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมตั้งแต่ ระยะเตรียมการโครงการ ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ตลอดจนกรณีการรื้อถอนอาคาร และในการจัดทำ CoP กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามระเบียบ กกพ. เรื่อง การรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2559 และผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าฯ จะต้องมีการจัดทำบันทึกปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับโครงการไว้ด้วย และ 3. เมื่อ กกพ. อนุญาตให้บริษัทสามารถประกอบกิจการพลังงานแล้ว จึงจะสามารถก่อสร้างโครงการฯ และจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้” นายขจรฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวในช่วงท้ายว่า จากประเด็นข้างต้นจะเห็นได้ว่า การจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน มีขั้นตอน หลักเกณฑ์ ระเบียบ และข้อกฎหมายกำหนดไว้ทุกขั้นตอน มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาโครงการในหลายขั้นตอน ทั้งก่อนดำเนินโครงการ อปท. ต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ก่อน ขั้นตอนการพิจารณาโครงการ และขั้นตอนก่อนก่อสร้างโครงการก็จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งเช่นกัน เพื่อใช้ประกอบการขอใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กกพ. ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2559 ซึ่งการจัดทำโครงการได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น หากประชาชนไม่เห็นด้วย โครงการก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือหากประชาชนต้องการเสนอแนะให้ปรับปรุงโครงการอย่างไร ก็สามารถเสนอได้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ และโครงการไฟฟ้าพลังงานขยะไม่ได้เป็นการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยแต่เพียงหน่วยเดียว โดย อปท. จะเป็นผู้เสนอโครงการฯ ซึ่งกระบวนการในการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ นั้น จะให้สถาบันการศึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะดำเนินการตามหลักวิชาการ และเสนอผ่านการพิจารณาโครงการในรูปแบบของคณะกรรมการ ตั้งแต่ระดับจังหวัดและระดับกระทรวง รวม 3 ชุด ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากหลายภาคส่วนราชการ ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น โดยคณะกรรมการจะทำหน้าที่สนับสนุน พิจารณาเชิงเทคนิค ความเหมาะสมเท่านั้น นอกจากนี้ ยังต้องผ่านการพิจารณาความเหมาะสมและได้รับอนุญาตประกอบกิจการจากกระทรวงพลังงานอีกขั้นตอนหนึ่งด้วย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 219/2567 วันที่ 9 ก.พ. 2567