วันนี้ (18 ก.พ. 67) เวลา 14.00 น. ที่อุดรธานีฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทย ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมบรรยายพิเศษ “พระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้า” โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน นายณฐพล วิถี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก หัวหน้าส่วนราชการ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย Young OTOP และผู้ที่สนใจพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทย รวมกว่า 140 คน ร่วมในงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีของชีวิตที่ลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเราทุกคนได้มีโอกาสมาทำสิ่งที่จะก่อเกิดสิ่งที่ดีให้กับชีวิตและครอบครัว เพราะทุกคน คือ “ผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ท่านมีพระราชปณิธานทำให้พวกเราคนไทยทั่วประเทศ ได้ช่วยกันนำเอาภูมิปัญญางานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทยที่มาจากมันสมองและสองมือ มาทำการประดิษฐ์เป็นชิ้นงานขึ้น เรียกว่า “งานหัตถกรรมไทย” ที่มีหลากหลายแขนง ซึ่งชาวอุดรธานีนับว่าโชคดีที่มีโอกาสในการสนองพระกรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่น “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงทุ่มเทและอุทิศพระวรกาย เสียสละความสุขส่วนพระองค์ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพระราชทานแนวทางกับพี่น้องในพื้นที่ ซึ่งคำว่า “ต่อยอด” คือการขยายผลนำเอาวัฒนธรรมประเพณีของบรรพบุรุษของเรา หรือสิ่งที่เราทำอยู่แล้วให้เกิดผลประโยชน์มากยิ่งขึ้นกับเรา โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของเก่าหรือการน้อมนำคำสอนที่ดีมาประยุกต์ใช้ในชีวิต ซึ่งยังคงรักษาเป้าหมายความมั่นคงเดิม เช่น การน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาพัฒนาพื้นที่โดยประยุกต์สู่โคก หนอง นา ซึ่งจะทำให้เรามีผลผลิตที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้ มีบ่อน้ำคูคลองที่สามารถเลี้ยงปลานำมาเป็นอาหาร เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเคยทำอยู่แล้วในอดีต แต่เราจะทำอย่างไรให้สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราอย่างยั่งยืนได้
“งานผ้าไทยก็เคยถึงขีดสุดเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากพลวัตของโลกและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามา ทำให้ผ้าไทยไม่ได้รับความนิยมเป็นช่วงเวลาอันยาวนาน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล็งเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาผ้าไทยของคนไทย ทำให้เกิดรายได้จากการขายผ้า เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เงินไหลเวียนกลับสู่ชุมชน ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านและชุมชนก็จะเกิดความมั่นคง เรียกได้ว่าทรงชุบชีวิตฟื้นคืนผ้าไทยให้กลับมา ด้วยทรงปรารถนาให้คนไทยได้มีรายได้ และทำให้เกิดความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของมนุษย์ และการจะทำให้เกิดความยั่งยืนทางเครื่องนุ่งห่มได้คนไทยจะต้องทำได้ด้วยตนเอง ต้องมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกพืชที่สามารถนำสีมาย้อมผ้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับพวกเราคนไทย เป็นแนวทางในการทำให้ประชาชนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทำให้ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้น้อมนำแนวทางไปพัฒนาเป็น UN SDGs และนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติแด่พระองค์ท่าน เมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อยกย่องพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้มอบแนวทางในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนให้กับมนุษย์โลก” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ด้วยพระปณิธานอันมุ่งมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ได้พระราชทานแนวคิด “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” และพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกชุมชน/หมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัว ตลอดจนช่วยเหลือชุมชน ซึ่งพวกเราทุกคนที่มาในวันนี้มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสนองพระปณิธานของพระองค์ท่านเช่นเดียวกับข้าราชการทุกคนที่ทุ่มเทอุทิศตนเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนองพระราชปณิธานดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงขับเคลื่อนการพัฒนาคน พัฒนาชาวบ้านผู้ประกอบการผ้าในทุกถิ่นที่ด้วยโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยทรงเชื้อเชิญภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย รวมถึงดีไซเนอร์ผู้มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบตัดเย็บมาร่วมเป็น “ทีมวิชชาลัยเคลื่อนที่” สัญจรไปในทุกที่ ทุกภูมิภาค อีกทั้งได้พระราชทานแนวคิดในการผ่าทางตันของผ้าไทย ยกระดับให้ผ้าไทยมีความทันสมัยและเหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส พร้อมทั้งเสด็จไปปฏิบัติพระกรณียกิจเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนบ่อยครั้ง เช่นที่กลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พระองค์ได้พระราชทานแนวทางการทอผ้าให้ทันสมัย โดยการปรับเปลี่ยนลวดลายดั้งเดิมให้มีลายเล็กลง การผสมผสานลวดลาย เว้นช่องว่าง รวมถึงการเลือกใช้สีที่มีความเข้มลดลง การเลือกใช้เฉดสีที่หลากหลาย การใช้สี Pantone เพื่อให้ตอบโจทย์การตลาด ส่งผลทำให้ประชาชนมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายเพิ่มมากยิ่งขึ้น มีลูกค้าใหม่โดยไม่ทิ้งลูกค้าเก่ารายเดิม นอกจากนี้ พระองค์ท่านได้พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ให้กลุ่มทอผ้า ทำให้เกิดปรากฏการณ์ผ้าไทยที่ทุกคนสวมใส่กันทั่วประเทศ ซึ่งเราได้เห็นน้ำตาจากความซาบซึ้งใจของชาวบ้านที่มีรายได้จากการขายผ้าในช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบกับโควิด-19 แต่คนทำผ้าสามารถมีรายได้ด้วยพระกรุณาธิคุณ ซึ่งในเวลาต่อมาพระองค์ได้พระราชทานลายผ้าเพิ่มเติม อาทิ “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” “ลายดอกรักราชกัญญา” รวมถึง “ลายบาติก” โดยล่าสุด คือ “ลายชบาปัตตานี” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพี่น้องประชาชนได้ไปพัฒนาออกแบบ ตัดเย็บ งานผ้าไทย อีกทั้งยังได้ทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK เพื่อให้เกิดองค์ความรู้สะท้อนความหลากหลายของผ้าไทย รวมถึงแนวทางการผลิตผ้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยการใช้สีธรรมชาติ และการใช้วัตถุดิบที่มาจากชุมชนกับการผลิตชิ้นงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดแฟชั่นที่ยั่งยืน ซึ่งท้ายที่สุดคือการถ่ายทอดภูมิปัญญาส่งต่อให้แก่ลูกหลานเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า การสวมใส่ผ้าไทยนอกจากจะได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยแล้ว ยังเป็นการทำบุญและทำให้ลูกหลานได้สืบทอดความเป็นไทย ได้มีความกตัญญูกตเวที ไม่ละทิ้งวิชาของบรรพบุรุษ และได้ตอบแทนบุญคุณด้วยการสร้างรายได้ให้กับตนเอง จากการที่เราช่วยกันฝึกฝนและพัฒนาตัวเองให้มีฝีมือเรื่องแฟชั่น นำไปสู่การเป็นแฟชั่นยั่งยืน “Sustainable fashion” จึงขอขอบคุณทุกคนที่มุ่งมั่นตั้งใจ ขอให้พวกเราได้รับสิ่งที่ดีงามจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านคณาจารย์วิทยากร ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์จริงในการประกอบอาชีพด้านแฟชั่น ซึ่งคณาจารย์ทุกท่านเสียสละเวลามาเป็นหน่วยกล้าตายในการจะนำความรู้ไปขยายผลในการประกอบสัมมาชีพและถ่ายทอดสู่เพื่อนร่วมกลุ่ม ลูกหลาน ในการร่วมกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” และขอให้โครงการนี้ได้ประสบผลสำเร็จสนองพระปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ส่งเสริมให้ให้คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด “ภูมิปัญญาผ้าไทย” เป็นเครื่องมือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัวและสังคมอย่างยั่งยืนตลอดไป
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในคราวที่ทรงเสด็จนมัสการหลวงปู่ขาวอนาลโย ณ วัดถ้ำกลองเพล ในปี พ.ศ. 2525 และกลุ่มสตรีบ้านหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ได้พร้อมใจกันสวมเสื้อผ้าขิดไหมเฝ้ารอรับเสด็จฯ ซึ่งในเวลาต่อมาพระองค์ได้พระราชทานไหมหลวง (เส้นไหมในโครงการศิลปาชีพ) แก่กลุ่มสตรีบ้านหนองอ้อ เพื่อนำไปทอผ้าขิดไหม นำไปสู่การจัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าไหมขิด” ขึ้นในคราวนั้น และยังคงสืบสานการทอผ้าไหมขิด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ จังหวัดอุดรธานียังได้ขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมการปลูกและอนุรักษ์ไม้ให้สี การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การปลูกคราม การย้อมสีธรรมชาติ การแปรรูปตัดเย็บ การจำหน่าย ทำให้มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2566 รวม 9,815,169,531 บาท และได้รับรางวัลจากการประกวดผ้าลายพระราชทาน จำนวน 3 ครั้ง รวม 21 ผืน
“ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม มาถ่ายทอดองค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชาที่เป็นการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ได้แก่ 1. การสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล 2. การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย 3. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด 4. การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) และ 5. กลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทักษะการทอผ้าของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยสู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายวันชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 274/2567 วันที่ 18 ก.พ. 67