ปลัดมหาดไทยเผย ครบ 81 วันของการเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ประชาชนลงทะเบียนหนี้นอกระบบแล้วกว่า 1.44 แสนราย มียอดหนี้นอกระบบรวมกว่า 10,326 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 15,236 ราย มูลหนี้ลดลง 724 ล้านบาท เน้นย้ำ ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ลงทะเบียนให้ครบทุกกรณี ควบคู่กับบูรณาการส่งเสริมแนวทางการประกอบอาชีพ การบริหารจัดการเงิน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน
วันนี้ (19 ก.พ. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 81 โดยเมื่อเวลา 15.00 น. สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียนพบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 144,429 ราย มูลหนี้รวม 10,326.212 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 120,518 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 23,911 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 114,995 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้ 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 11,176 ราย เจ้าหนี้ 8,312 ราย มูลหนี้ 920.271 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,822 ราย เจ้าหนี้ 5,498 ราย มูลหนี้ 399.461 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,336 ราย เจ้าหนี้ 4,325 ราย มูลหนี้ 352.002 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,999 ราย เจ้าหนี้ 4,110 ราย มูลหนี้ 432.751 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 3,940 ราย เจ้าหนี้ 2,862 ราย มูลหนี้ 365.584 ล้านบาท
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 239 ราย เจ้าหนี้ 240 ราย มูลหนี้ 14.255 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 340 ราย เจ้าหนี้ 261 ราย มูลหนี้ 23.718 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 383 ราย เจ้าหนี้ 298 ราย มูลหนี้ 14.969 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 461 ราย เจ้าหนี้ 338 ราย มูลหนี้ 20.242 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 465 ราย เจ้าหนี้ 377 ราย มูลหนี้ 26.035 ล้านบาท
“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 24,530 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 15,236 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,250.827 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,525.941 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 724.886 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,272 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 422 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 276.580 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 44.215 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 232.364 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ ดำเนินคดีไปแล้ว 279 คดี ใน 35 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีความมุ่งมั่นในการที่จะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เป็นหนี้นอกระบบ เพราะต้องชำระดอกเบี้ยสูงมากและเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังมีกระบวนการวิธีการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรงโหดร้ายทารุณ
“ในส่วนของการนำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ปัจจุบันมีประชาชนที่มาลงทะเบียนหนี้นอกระบบบางส่วนที่ไม่สามารถให้ข้อมูลของเจ้าหนี้นอกระบบได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้การติดตามเพื่อเชิญมาไกล่เกลี่ยหนี้ได้ยาก ซึ่งเราพบว่า เป็นข้อมูลของเจ้าหนี้นอกระบบซึ่งเป็นพวกปล่อยเงินกู้นอกระบบมืออาชีพ มีลูกน้องที่เรียกว่าแก๊งหมวกกันน็อค ไปปล่อยเงินกู้ตามตลาดตามชุมชน ทำให้ชาวบ้านทราบเฉพาะเพียงชื่อเล่นของเจ้าหนี้ ซึ่งใช้วิธีการทวงหนี้แบบเดินเก็บตามตลาดหรือในที่ที่ลูกหนี้ทำมาหากินอยู่ ในส่วนนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้ส่งข้อมูลรายละเอียดของเจ้าหนี้นอกระบบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน หาทางจับกุมต่อไป โดยข้อมูลรายละเอียด อาทิ รายชื่อ และสถานที่ที่คนกลุ่มนี้ไปปล่อยกู้ ซึ่งทั้งหมดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการปล่อยกู้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเก็บดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมถึงได้ส่งข้อมูลการทวงหนี้แบบใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่คุกคาม ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้เน้นย้ำให้ทุกอำเภอดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง หนุนเสริมเพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ 1 ครั้ง โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เป็นเหมือน “One Stop Service” ในการแก้หนี้นอกระบบแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ซึ่งประชาชนที่มาลงทะเบียนและร่วมกิจกรรมตลาดนัดแก้หนี้ ภาครัฐจะได้ทำการให้การช่วยเหลืออย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรวดเร็ว ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมามีผลตอบรับที่ดีและสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนได้จริง รวมถึงประชาชนที่ไม่ได้เป็นหนี้นอกระบบก็สามารถมารับคำปรึกษาจากสถาบันการเงินได้ อาทิ การปรึกษาเรื่องสินเชื่อเพื่อการลงทุน การประกอบอาชีพ นับเป็นการแก้ไขหนี้นอกระบบในเชิงป้องกันอีกทางหนึ่ง ด้วยแนวทางเพิ่มรายได้ขยายโอกาส ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถประกอบสัมมาชีพที่มีรายได้ที่ดีอย่างยั่งยืน ไม่ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ ตลอดจนถึงเรื่องกระบวนการไกล่เกลี่ย เราดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบทุกกรณี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน
“ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 10 วันที่พี่น้องประชาชนยังคงสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเราจะรับลงทะเบียนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ทั้งการเดินทางไปขอคำปรึกษาและลงทะเบียน ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด) ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือสามารถลงทะเบียนทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวปิดท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 276/2567 วันที่ 19 ก.พ. 67