เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการรับลงทะเบียนประชาชนที่มีความประสงค์ขอให้ทางราชการได้ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดรับลงทะเบียน จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับลงทะเบียนในช่วงเวลา 23.59 น. มีประชาชนลงทะเบียนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบรวมทั้งสิ้นจำนวน 153,400 ราย แบ่งเป็นลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 125,787 ราย ลงทะเบียน ณ หน่วยรับลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานเขต จำนวน 27,613 ราย มูลหนี้รวม 11,999.44 ล้านบาท และมีเจ้าหนี้ จำนวน 126,798 ราย ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจภาพรวมของการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ และเป็นนโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจเป็นลำดับต้น ๆ ในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวว่า ในวันนี้ แม้ว่าการรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ภารกิจในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบยังไม่สำเร็จ กระทรวงมหาดไทยยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่องด้วยกลไกของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหานี้นอกระบบระดับจังหวัด ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการระดับอำเภอ ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอ พุ่งเป้าบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งขณะนี้สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 18,929 ราย มูลหนี้ลดลง 777.52 ล้านบาท และมีกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ประสงค์ดำเนินคดี 317 คดี พร้อมทั้งประสานสถาบันการเงินของรัฐ ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถนำเงินไปชำระเจ้าหนี้ แล้วมาเป็นลูกหนี้ในระบบที่สามารถชำระดอกเบี้ยไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยจากข้อมูลที่ได้รับรายงานในขณะนี้ ธนาคารของรัฐยังสามารถปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ได้อีกจำนวนหนึ่ง โดยทีมงานกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ยังคงเป็นกลไกในการประสานให้ลูกหนี้ได้รับบริการจากทางธนาคาร แต่การจะได้รับพิจารณาให้สินเชื่อหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของทางสถาบันการเงินเป็นผู้พิจารณา
“แต่กระนั้น กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราจะต้องแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหามิติยาไทย ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ชีวิตด้วยหลักการพึ่งพาตนเอง โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแนวพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ให้กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมกับพี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบก็เป็นสมาชิกของหมู่บ้าน/ชุมชนที่พวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งการส่งเสริมการน้อมนำพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ไว้บริโภค ซึ่งจะทำให้สามารถลดรายจ่ายครัวเรือน มีอาหารที่สะอาด ปลอดสารเคมี และยังสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ได้อีกด้วย รวมไปถึงการหนุนเสริมระบบคุ้มบ้าน กลุ่มบ้าน โดยรวมครัวเรือนประมาณ 10-15 ครัวเรือน เป็น 1 กลุ่มบ้าน มีโครงสร้างการดูแลกันและกัน เช่น หัวหน้ากลุ่มบ้าน กรรมการกลุ่มบ้าน เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลสมาชิกที่อาจต้องการความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาในการใช้ชีวิต และส่งเสริมให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้รับรู้รายรับและรายจ่าย กระตุ้น ให้เกิดความประหยัด ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือยกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งกระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มจิตอาสาในการดูแลครอบครัวชุมชน การรักษาความปลอดภัย การรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งธนาคารขยะ ซึ่งสามารถนำรายได้เข้าสู่ชุมชน เข้าสู่ครัวเรือนได้ โดยมีทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ข้าราชการประจำตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการหมู่บ้าน และทีมงานอาสาสมัครในพื้นที่ เป็นกลไกของกระทรวงมหาดไทยในการดูแลให้เกิดสิ่งดี ๆ เหล่านี้กับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย หรือ Partnership ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 17 ด้วยการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม OTOP และภาคีเครือข่ายภาคเอกชนอื่น ๆ ร่วมกันสำรวจความต้องการของลูกหนี้นอกระบบที่จะขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือกลุ่มเครือข่าย เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลในการให้คำแนะนำ คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมทักษะ ประสบการณ์ ในการประกอบอาชีพ เช่น การทำอาหาร การทอผ้า การย้อมผ้า การรังสรรค์งานหัตถกรรม งานฝีมือต่าง ๆ การเกษตร ปลูกผลไม้ พืชสมุนไพร ตลอดจนถึงการประกอบอาชีพในครัวเรือน ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำมาหาเลี้ยงชีพ รวมถึงภาคีเครือข่ายภาคผู้นำศาสนา อาทิ คณะสงฆ์ ที่เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาในการดำรงชีวิต ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทย เช่น หลักสูตรนวดแผนไทยของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ที่สามารถสมัครเข้ารับการฝึกอบรมทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว และโครงการฝึกอาชีพของวัดต่าง ๆ ในหลาย ๆ จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการหาเลี้ยงชีพได้ เป็นต้น
“สิ่งสำคัญเหล่านี้จะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับ “ผู้นำ” ซึ่งคนมหาดไทยถูกคาดหวังจากสังคมไทยและได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลทุกยุคในการเป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาและบูรณาการทุกภาคีเครือข่ายให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กลไกกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ยังคงเดินหน้าทุกกระบวนการที่จะหนุนเสริมทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยกระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้ใช้กลไกเหล่านี้แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามแนวทางที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน แม้ว่าการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะสิ้นสุดลง แต่หากพี่น้องประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว และทุกปัญหาที่ประสบและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง สามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะเดินทางไปขอรับคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และประสานการปฏิบัติ บูรณาการทุกหน่วยงานเข้าให้ความช่วยเหลือในทุกเรื่อง เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 343/2567 วันที่ 2 มี.ค. 2567