วันนี้ (13 มี.ค. 67) เวลา 07.30 น. ที่หอประชุมสารภี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา ตำบลแหลมทอง อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีปิดและมอบวุฒิบัตรโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 10 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอนุชา อินทศร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 32 อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครราชสีมา สุรินทร์ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด รวมจำนวน 120 คน ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นทุกท่าน คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นทหารเสือของพระราชา ช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้กับพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกเพศทุกวัยที่อยู่ในชุมชน หมู่บ้าน รวมถึงหน่วยราชการ สถานศึกษาต่าง ๆ ในถิ่นที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งคำว่า “ทหารเสือของพระราชา” คือ ผู้สืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นคำยกย่องชื่นชมที่มาจากหัวใจของตน เพราะทุกท่านเปรียบเสมือนหัวหมู่ทะลวงฟันในการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” อันแสดงถึงพระราชหฤทัยที่ประสงค์ให้พวกเรามีความสุขด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งถูกขยายความโดยพระราชดำรัสที่เราเหล่าข้าราชการได้อัญเชิญไปไว้ที่ทำงาน เพื่อเตือนใจว่าเราทุกคนจะได้รำลึก ตระหนัก และช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระองค์ท่านในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
“ผู้ผ่านการฝึกอบรมทุกท่านจะเป็นผู้กล้ากลุ่มแรกที่จะสนองพระราชปณิธานในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ในการไปบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยให้กับลูกหลานของเรา ด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ความว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่ประเทศไทยบรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย ….ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ….. ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์ ….. อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย” ด้วยการไปถ่ายทอดเรื่องราวที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ให้แก่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ช่วยกันสืบทอดสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม โดยไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นรากเหง้าของพวกเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้เพื่อชี้ทางสว่างให้กับคนในสังคมไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงขยายความถึงคำว่า “ประวัติศาสตร์” พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “สมัยนี้คนไม่ค่อยชอบเรียนประวัติศาสตร์กัน คนไม่ค่อยคิดอะไรย้อนหลัง ไม่ได้สอนให้เป็นคนสมัยเก่าไดโนเสาร์อะไร แต่ความเป็นมา ความต่อเนื่อง… ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ทั้งที่ดี ทั้งที่ไม่ดี เราก็จะรู้ว่าอะไรมันดี อะไรเป็นประโยชน์ อะไรมันไม่ดี เพราะว่ามันมีของดี มันก็มีของไม่ดี มันมีของถูก มันก็มีของผิด ก็สำคัญที่ว่า จะเปิดใจศึกษาว่าอะไรมันถูก อะไรมันผิด อะไรมันเป็นประโยชน์ อะไรมันไร้ประโยชน์ แต่อย่างที่บอกว่าประวัติศาสตร์มีทั้งของเลวชั่วร้าย และก็มีทั้งของที่ดี..แต่ที่สำคัญเราต้องเอาบทเรียนมาใช้…”
“กระทรวงมหาดไทยได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ทำให้พวกเราทุกคนมีโอกาสที่ดีคือการได้มีโอกาสกลับไปช่วยกันทำให้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นจริง คือ ช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ดังนั้น ทุกที่ทุกเวทีจะเป็นพื้นที่ให้พวกเราทุกคนผู้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทย สามารถใช้พูดคุยบอกเล่าสิ่งที่ดี สิ่งที่บรรพบุรุษได้เสียสละเลือดเนื้อรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ให้กับพวกเรา ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมให้ทุกคนได้มีพื้นที่ในการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ ทั้งในที่ประชุมกรมการจังหวัด กรมการอำเภอ และหอกระจายข่าวหมู่บ้าน หรือสื่อโซเชียลมีเดีย ที่เราสามารถไปเผยแพร่ถ่ายทอดเรื่องราวให้กับประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนรู้สึกดีใจอย่างยิ่งที่ได้มาพบกับผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นทุกคน เพราะทุกคนจะเป็นครูจิตอาสา เสียสละในการเริ่มทำสิ่งที่ดี ซึ่งการที่ประเทศชาติจะมั่นคงและประชาชนจะมีความสุขได้เป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่กัน ดังนั้น ตนจึงสรุปและเชื่อมั่นว่าทุกท่าน คือ ทหารเสือของพระราชา ที่จะเริ่มก่อร่างสร้างความรักความผูกพันของคนในชาติไทย ที่เป็นสิ่งที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใดในชีวิตของคนไทยทุกคน และคำว่าทหารเสือของพระราชานั้นจะตัดสินว่าจริงหรือไม่ ไม่ใช่การตัดสินในวันนี้แต่เป็นสิ่งที่ทุกท่านจะไปทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมและประเทศชาติต่อไป ตนจึงขอฝากความหวังไว้ที่ทุกท่านให้นำเอาสิ่งสำคัญที่เราต้องไปช่วยกัน คือ เรื่องวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามต่อสังคมและประเทศชาติ จึงขอขอบคุณทุกคนที่ทำให้ตนมีความหวังว่าบ้านเมืองจะอยู่ได้ แม้ว่าทุกท่านอาจจะมีแรงผลักดันในการทำสิ่งที่ดี มี “Passion” แตกต่างมากน้อยไม่เท่ากัน แต่หวังว่าการมาใช้ชีวิตร่วมกัน จะทำให้เกิดสิ่งที่เป็นเหมือนตัวแทนรุ่นที่หลอมรวมเอาสิ่งที่ดี “เป็นครูจิตอาสาจนกว่าชีวิตจะหาไม่” สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวแทนของเราทุกคนทำให้สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรื้อฟื้น “แก้ไขในสิ่งผิด” ที่พวกเราคนไทยมีน้ำใจไมตรีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกันลดน้อยลงให้กลับคืนมา ทำให้แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินทองที่ทุกคนมีความสุข มีความอยู่ดีกินดีบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรื้อฟื้นเรื่องการหนุนเสริมพัฒนาจิตใจของคน เพราะคนสำคัญที่สุดในสังคม และคนที่สำคัญที่สุดไม่ใช่คนที่มีการศึกษาสูง แต่คือคนที่มีใจในการมอบความปรารถนาดีและการกระทำที่ดีต่อคนรอบข้าง จึงหวังว่าเราจะมีคนที่กล้านั่งในวงเพื่อพูดคุยสิ่งที่ดีงามของบ้านเมือง ลุกขึ้นมานั่งพูดคุยกับลูกหลานถึงบรรพบุรุษของเรา การรู้สิ่งเหล่านี้ รวมถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย จะทำให้เกิดความกตัญญูกตเวทีที่เป็นเครื่องหมายของคนดี การรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราทุกคนที่ได้รับรู้ พร้อมที่จะเสียสละเรื่องส่วนตัวเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยให้คงอยู่ยืนยงถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งพระราชดำรัสของพระองค์มีความชัดเจนว่า ประวัติศาสตร์ชาติไทยมีทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี แต่เราจะต้องเรียนรู้จากสิ่งนั้น เพื่อไม่ให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นอีก ด้วยการช่วยกันไปเผยแพร่สิ่งที่ดีงามและรอยด่างพร้อย ทำให้ทุกคนมีความรู้และมีจิตใจช่วยกันดูแลรักษาครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้สอนให้ลูกหลานสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นที่มาของวิชาลูกเสือที่สอนให้เราดำรงชีวิตได้ในยามฉุกเฉิน เช่นเดียวกับการสร้างความมั่นคงในเครื่องนุ่งห่มที่จะยั่งยืนได้ คนในชาติต้องช่วยกันสวมใส่ผ้าไทย เพื่อสร้าง “Demand” ซึ่งจะเกิด “Supply” ชาวบ้านที่ทอผ้าก็จะมีรายได้หมุนเวียนกลับไปสู่ชุมชน ซึ่งการเล่าเรื่องราวนั้นจะทำให้เราทุกคนหลอมรวมจิตใจช่วยทำให้ประเทศนี้มีความหวังต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยการส่งเสริมให้ “ครู ก” ไปสร้าง “ครู ข” และขยายผลไปสู่พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ซึ่งตนตระหนักเห็นถึงความสำคัญจึงได้มอบวุฒิบัตร และบัตรประจำตัวผู้ผ่านการอบรมที่ได้ลงนามด้วยตนเองในทุกใบ เพื่อแสดงความขอบคุณและให้ทุกคนได้ตระหนักว่าเราให้ความสำคัญจริง นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ จะได้เชิญทุกท่านไปพูดคุยเสนอแนะวิธีการในการขับเคลื่อนผู้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น และทำหน้าที่ครูจิตอาสาของชาติให้กับประชาชนคนทั่วไป อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้บรรจุวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยให้โรงเรียนในสังกัด อปท. ได้มีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม เป็นวิชาสำคัญในการเรียนการสอนในภาคเรียนที่จะถึงนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ขึ้นอยู่กับผู้นำ คือ พวกเรา จึงหวังว่าพวกเราช่วยกันทำให้คนไทยไม่ลืมบรรพบุรุษ ไม่ลืมประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใช้กลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หารือร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตลอดจนถึงอธิการบดี และภาคีเครือข่ายวิชาการ ได้ทำให้โรงเรียน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้นำวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยไปสู่การเรียนการสอนเช่นเดียวกับโรงเรียนในสังกัด อปท. โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นทหารเสือของพระราชาที่จะไปช่วยหนุนเสริม ทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติด้วยการบอกเล่าประวัติศาสตร์ในทุกถิ่นที่ ทุกสถาบันการศึกษา เพื่อธำรงความเป็นสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้คงอยู่เป็นหลักชัยแก่คนไทยทุกคนอย่างยั่งยืนสืบไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 413/2567 วันที่ 13 มี.ค. 2567