วันนี้ (29 มี.ค. 67) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานปิดโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 – 29 มีนาคม 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และนายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟัง และถ่ายทอดสดไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน รวมจำนวน 10 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี นครนายก ชลบุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ซึ่งกิจกรรมในช่วงบ่ายวันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัด จะได้ร่วมกันนำเสนอแผนการขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่ต่อไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคนมหาดไทยในฐานะราชสีห์ผู้ภักดีต่อแผ่นดินที่มุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีอุดมการณ์หลักในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระองค์ท่าน ด้วยการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนสร้าง “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ทั้งนี้ โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่นายอำเภอที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่และผู้แทนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทุกภาคส่วนให้ได้รับการบ่มเพาะองค์ความรู้ และมีความเข้าใจในหลักการทรงงานและการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติราชการและขยายผลเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่
“ขอขอบคุณข้าราชการและภาคีเครือข่ายผู้เข้ารับการอบรมทุกคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นตัวแทนของข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ที่เข้ารับการฝึกอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการทุกคนมาฝึกอบรมด้วย Passion ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้อำนาจหน้าที่ (Function) ของแต่ละกรมประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ทำพอเสร็จเฉพาะหน้า แต่เป็นการทำให้ประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเป็นการทำด้วยหัวใจ นอกเหนือจากการทำเพียงแต่เพราะเป็นหน้าที่ ยังผลให้งานบำบัดทุกข์ บำรุงสุของค์รวม ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งคำว่า “การทำงานแบบมีประสิทธิผล” นั้น คือ การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เวลาและงบประมาณ” ส่วนการทำงานแบบมีประสิทธิภาพ คือ ทำงานให้ได้ประสิทธิผลดีในเวลาที่กำหนดหรือน้อยกว่าที่กำหนด ซึ่งเมื่อทำทั้งสองส่วนได้ผลดี จะทำให้เกิดประสิทธิผลมาก ประสิทธิภาพสูง จึงขอให้ทุกคนพึงระลึกเสมอว่า ต้องเป็นนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงของกระทรวงมหาดไทย หรือที่เรียกโดยย่อว่า CAST (Change Agent for Strategic Transformation) โดยนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ไปต่อยอด ขยายผลแก่เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ของท่านต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า พวกเราทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น และต้องทำทันที (Action Now) เพราะกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จวันเดียวฉันใด กระทรวงมหาดไทยของพวกเราก็เช่นกัน ถ้าเรารักในองค์กร รักในพื้นที่ รักพี่น้องประชาชน เราต้องช่วยกันสร้างสรรค์ให้เกิดการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพราะงานเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราผู้เป็นที่คาดหวังของประชาชนในฐานะผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งจุดแตกหักของการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนอยู่ที่ “หมู่บ้าน” ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ เราต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ครอบคลุมทั้ง 8 ตัวชี้วัด รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้จะทำให้เกิด Socialization ทำให้พวกเราได้ทำหน้าที่เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ไปหาประชาชน ไม่ใช่ทำงานเป็นมนุษย์ออฟฟิศ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานพระโอวาทว่า “ต้องรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” หมั่นไปเยี่ยม ไปตรวจ ไปติดตาม ไปหาข้อมูล และต้องเตือนใจอยู่เสมอว่า “การทำงานไม่สักแต่ทำเสร็จ แต่ต้องทำให้สำเร็จ”
“การสร้างทีมที่ดี ต้องมี “ผู้นำ” ดึงภาคีเครือข่ายที่มีจิตอาสาเข้ามาร่วมกันทำงานด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือ “เพื่อประชาชน” เราทุกคนทำหน่วยเดียวกรมเดียวไม่ได้ ต้องมี “ทีม” และจะมีทีมแค่ข้าราชการในหน่วยเดียวกันไม่ได้ ต้องเป็นทีมจาก 7 ภาคีเครือข่าย คือ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน อันเป็นการน้อมนำหลักการทรงงาน “บวร บรม ครบ” คือ บ้าน วัด (ทุกศาสนา) และราชการ ที่เป็นหลักในการสร้างสันติสุข สร้างความผาสุกให้กับสังคมไทย ดัง MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ซึ่งได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ความร่วมแรงร่วมใจกันของวัด ชุมชน และภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นด้วยอุดมการณ์ร่วมกัน คือ ศรัทธาปสาทะในบวรพระพุทธศาสนา และทำให้วัดเป็นสถานที่สัปปายะแก่ผู้เข้ามาพึ่งพา บำบัดทุกข์และเสริมสร้างความสุขทั้งแก่กายและใจ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการ Disruption ทางความคิด วิถีชีวิต และสังคม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ฯ ยังได้กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเราอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง แต่ทว่าเป็นโชคดีของคนไทยทุกคนที่เมื่อปี พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทาน ส.ค.ส. ให้แก่ประชาชนไทย มีภาพแผนที่ประเทศไทยที่รอบ ๆ มีระเบิดอยู่ 4 ลูก มีความหมายว่าประเทศไทยอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงของภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ และสงคราม และใน ส.ค.ส. พระราชทาน ได้เขียนตัวอักษรบนแผนที่ประเทศไทย “สามัคคีเป็นพลัง ค้ำจุนแผ่นดินไทย” และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชเสาวนีย์และแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาทักษะอาชีพของสตรีไทยและประชาชนชาวไทย ซึ่งนับเป็นความโชคดีของพวกเราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแรงกล้าดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระบรมราชโองการ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโครงการพระราชดำริที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด เช่น พระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เป็นต้น และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ดังนั้น เมื่อเราทุกคนมาเป็นข้าราชการแล้วต้องมีอุดมการณ์อยากเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน ทำงานสนองพระเดชพระคุณ โน้มตัวลงหาประชาชนดังเครื่องแบบสีกากีที่เป็นสีของดิน มีครุฑที่หมวก และเข็มขัดมีราชสีห์ที่คอ อันเป็นเครื่องหมายที่ว่า ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยต้องเป็นผู้นำในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน ต้องรองรับความทุกข์ยาก เพิ่มพูนความสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และต้องป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาใหม่อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ที่ “คน” โดยคนมหาดไทยทุกคนต้องมีทัศนคติที่ดี มองโลกในแง่ดี ดึงเอาพลังจิต พลังใจ Passion และ Attitude ของตนเองที่อยากบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มาผนวกกับ Knowledge และ Ability เพื่อให้เกิดพลังการทำงาน ซึ่งเมื่อเราทำได้แล้ว รังสีความปรารถนาดี ความเมตตา ความกรุณา ความปรารถนาดีที่อยากให้ประเทศชาติมีความมั่นคง อยากให้พี่น้องประชาชนมีความสุขมันจะแผ่ออกมาส่งผลไปถึงคนรอบข้างให้เขารู้สึกว่า “ข้าราชการคนนี้ดี” ซึ่งรังสีจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากจิตใจของเรา และ Passion อันแรงกล้ามารวมกันทำให้เรามีกำลังใจในการ Change for Good ให้สำนักงาน ครอบครัว และชุมชน ดังประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย ที่มุ่งทำให้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สะท้อนผ่าน 4,741 โครงการ มาเป็นหลักการสากลโลก พร้อมทั้งได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ของโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า เราทุกคนต้องสร้างทีมที่มีใจ มีความรู้ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้น ด้วยการช่วยกันสร้างความรัก ความศรัทธา ด้วยรังสีความดีที่แผ่ไปรอบข้าง แล้วดึงดูดเอาผู้คนจาก 7 ภาคีเครือข่ายมารวมตัวกันเป็นทีม ร่วมกันคิด ร่วมพูดคุยปรึกษาหารือ ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทำแบบไฟไหม้ฟาง ลงไปสร้างทีมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ให้มีความยั่งยืน ด้วยการไปทำให้เขารัก กระตุ้นปลุกเร้า และยุยงให้พี่น้องประชาชนรวมกลุ่มเป็นคุ้มบ้าน หย่อมบ้าน ป๊อกบ้าน กลุ่มบ้าน ด้วยการมุ่งเป้าพัฒนาที่คน เพื่อให้คนพัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชน พัฒนาหมู่บ้าน ดูแลความปลอดภัย มีความรักสามัคคี เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รักษาสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำให้ลูกหลานได้รับการศึกษาทั้ง “พลศึกษา” ด้วยการบ่มเพาะทักษะการใช้ชีวิต รู้จักหุงข้าว ล้างจาน ทำกับข้าว เข้าวัด รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ควบคู่กับ “ปัญญาศึกษา” คือ การศึกษาตามระบบ ตามหลักสูตรการศึกษา ทำให้คนในชุมชนมีการสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี อันจะทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ท้ายนี้ ขอให้ทุกคนนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปช่วยกันสร้างทีมให้มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไปสร้างระบบคุ้ม ป๊อก หย่อม บ้าน ให้เป็นรูปธรรม และสำหรับข้อเสนอในวันนี้ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นต้นไม้เเห่งปัญญา ช่วยทำให้ความคิดสร้างสรรค์ เกิดการต่อยอดเเละขยายต่อไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ทุกมิติ ทำให้เกิดสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง สร้างสรรค์สังคมแห่งความสุขที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 536/2567 วันที่ 29 มี.ค. 67