เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 67 นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยในการทำสงครามกับยาเสพติด ตัดวงจรทั้งในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ตอนในของประเทศ เพื่อป้องกัน ปราบปราม และลดผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด รวมถึงการคืนคนดีสู่สังคมผ่านกระบวนการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับภารกิจด้านการป้องกันและเเก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนแก่พี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) จังหวัดขอนแก่น ณ กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอทุกแห่งในพื้นที่ โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ภายใต้กลไกของนายอำเภอและภาคีเครือข่ายร่วมกันให้การช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสภาพทางสังคม ตามแนวคิด “เอาชนะทางความคิด ให้โอกาส ให้ที่ยืน และให้อาชีพ” เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดจากสถานพยาบาล หรือผู้ป่วยที่ยังไม่หายขาดจากยาเสพติดที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน มาเข้ารับการบำบัดที่กองร้อย อส.จังหวัด/กองร้อย อส.อำเภอ โดยการดูแลของนายอำเภอ/พนักงานฝ่ายปกครอง เพื่อแยกผู้ป่วยยาเสพติดที่มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในชุมชน ออกมาพักคอยจนกว่าจะมีความพร้อมกลับคืนสู่ชุมชน เพื่อลดอันตรายและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยยาเสพติด ซึ่งจังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566
“ปัจจุบัน จังหวัดขอนแก่นมีความคืบหน้าและผลการดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูฯ ผู้ป่วยยาเสพติด ณ ศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) โดยได้ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้าฟื้นฟูฯ แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 จำนวนรวมทั้งสิ้น 541 ราย ประกอบด้วยผู้ป่วยยาเสพติดอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือฟื้นฟูฯ 120 ราย ใน 22 อำเภอได้แก่ อำเภอเขาสวนกวาง 17 ราย อำเภอเมืองขอนแก่น 7 ราย อำเภอพล 4 ราย อำเภอบ้านแฮด 6 ราย อำเภออุบลรัตน์ 1 ราย อำเภอน้ำพอง 27 ราย อำเภอหนองเรือ 1 ราย อำเภอบ้านฝาง 2 ราย อำเภอภูเวียง 3 ราย อำเภอพระยืน 3 ราย อำเภอหนองสองห้อง 5 ราย อำเภอชุมแพ 6 ราย อำเภอเวียงเก่า 2 ราย อำเภอโคกโพธิ์ไชย 2 ราย อำเภอมัญจาคีรี 7 ราย อำเภอหนองนาคำ 6 ราย อำเภอสีชมพู 4 ราย อำเภอแวงน้อย 3 ราย อำเภอแวงใหญ่ 1 ราย อำเภอภูผาม่าน 3 ราย อำเภอชนบท 8 ราย อำเภอกระนวน 2 ราย และมีผู้ป่วยยาเสพติดกลับบ้านแล้ว จำนวน 421 ราย” นายไกรสรฯ กล่าว
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ CI มีหน้าที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติการดำเนินงาน ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อยกระดับและพัฒนาการดำเนินงานในระยะต่อ ๆ ไป โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของศูนย์ CI จังหวัดขอนแก่น ขณะนี้มีการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) ครบทั้ง 26 อำเภอ โดยมีรูปแบบโครงสร้างการดำเนินงาน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 โดย นายอำเภอ/ผอ.ศป.ปส.อ. เป็นหัวหน้าศูนย์ CI อำเภอ และกำหนดอาคารสถานที่ดำเนินงาน CI อำเภอ และส่วนที่ 2 ปลัดอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ เป็นเลขานุการร่วม และเจ้าหน้าที่ศูนย์ CI ผู้แทนส่วนราชการ/หน่วยงาน ในอำเภอ ได้แก่ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร ท้องถิ่นอำเภอ นายกเทศบาล นายก อบต. ปลัดเทศบาล ปลัด อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน สมาชิก อส. ประจำกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ ซึ่งศูนย์ CI มีหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการ และพัฒนาหลักสูตรการดูแลให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่และบุคคล เป็นครูฝึก/ครูพี่เลี้ยง/ชุดรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ CI ประสานข้อมูลรองรับการส่งต่อผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการทางจิต หรือมีพฤติกรรมรุนแรงจากการใช้ยาเสพติด จากสถานพยาบาลที่ผ่านการบำบัดเข้ามาติดตามดูแลต่อเนื่อง จัดให้มีการสนับสนุนช่วยเหลือ และให้การสงเคราะห์ด้านอาชีพให้แก่ผู้เข้ารับบริการ ประเมินผลสภาวะทางกาย จิตใจ จ่ายยาจนกว่าตัวผู้ป่วยพร้อมกลับคืนสู่ชุมชน
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดนับเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและทันที รวมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารเชิงรุกที่เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็กนักเรียนในสถานศึกษา กลุ่มแรงงานในสถานประกอบการ หรือไซต์งานก่อสร้าง กลุ่มผู้อยู่ระหว่างการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม ซึ่งจะต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่องเเละต้องช่วยกันสื่อสารให้เห็นถึงโทษ และภัยที่เกิดจากยาเสพติด ตลอดจนถึงต้องใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนหรือครอบครัว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและเเก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่ รวมไปถึงช่องทางในการแจ้งเบาะเเส ทั้งศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ร่วมกันสอดส่องดูแล ค้นหา เพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ทำให้คนในชุมชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นจะบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ขยายผลการดำเนินงานโมเดลศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ให้กับประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 553/2567 วันที่ 1 เม.ย. 2567