เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 เวลา 15.00 น. ที่แปลง โคก หนอง นา ของนางฉวีวรรณ แก้วแก่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 บ้านกุดค้า ตำบลทุ่งฝน อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ให้กำลังใจและติดตามการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายณฐพล วิถี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกฤต อรรคศรีวร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุดรธานี นายภควัตร คำพวง พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี นายกำธร วิเชฏฐพงศ์ นายอำเภอทุ่งฝน นางสุคนธ์ เหลืองอิงคะสุต พัฒนาการอำเภอทุ่งฝน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดอุดรธานี และภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ใหญ่ฉวีวรรณ แก้วแก่น และพี่น้องประชาชนชาวบ้านกุดค้า ตำบลทุ่งฝน อำเภอทุ่งฝน ด้วยเพราะสิ่งที่ท่านผู้ใหญ่ฉวีวรรณได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายโคก หนอง นา เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ถือเป็นการสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่พระองค์ท่านอยากเห็นพสกนิกรชาวไทยมีความสุข เพราะพระองค์ท่านทรงรู้แจ้งเห็นจริงว่า พวกเราจะมีความสุขได้ พวกเราต้องทำตามสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ที่มีมากกว่า 40 ทฤษฎี อาทิ เกษตรทฤษฎีใหม่ ป่าเปียก อธรรมปราบอธรรม ฝนหลวง โดยเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นทฤษฎีการบริหารจัดการพื้นที่ แบ่งเป็น 30% แรก คือ พื้นที่ทำแหล่งน้ำ 30% ต่อมา คือ พื้นที่ทำอาหาร ทำนาข้าว และอีก 30% คือ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ส่วนอีก 10% ที่เหลือสำหรับทำที่อยู่อาศัย ที่เลี้ยงสัตว์ อันเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในพื้นที่ของเราได้อย่างมีความสุข
“ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ แบบที่ 1 เกษตรกรกำลังช่วยกันร่วมมือร่วมใจ ปั้นโคก สร้างหนอง และทำนา โดยได้น้อมนำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแบบอย่าง พร้อมพระราชทานข้อความว่า “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” “งานเสร็จเป็นรูปธรรม นามธรรมอิ่มเอิบ สบายใจ” 15 ส.ค.63 แบบที่ 2 ภาพวาดฝีพระหัตถ์พืชผลทางการเกษตรที่ได้ลงกล้าเพาะปลูกผลิดอกออกผลเบ่งบานอย่างสดใส พร้อมพระราชทานข้อความว่า “โคกหนองนากับความสุขสดใส” “We are farmers together” 17 ส.ค. 63 แบบที่ 3 ภาพวาดฝีพระหัตถ์ความเขียวขจีสดใสของธรรมชาติ และพระราชทานข้อความว่า “เรารักธรรมชาติ เราสร้างสรรค์ในงานเกษตร โคกหนองนา เพื่อความอุดมสมบูรณ์และความสดใสทั้งกายและใจ Happy farmers” 19 ส.ค.63 และภาพวาดฝีพระหัตถ์พร้อมข้อความให้กำลังใจแก่ข้าราชการและพสกนิกรชาวไทย ความว่า “ความสดใส สดชื่น ของโคกหนองนา” และ “ความสุขและอบอุ่น ในบ้านบนโคกหนองนา” 3 ก.ย. 63 และพระราชทานโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง ให้แก่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อใช้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ต้องขังได้มีหลักในการดำรงชีวิตหลังจากพ้นโทษ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่าต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพร้อมทั้งทรงอรรถาธิบายคำว่า “อารยเกษตร” คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่อารยเกษตร หรือที่เราเรียกชื่อเล่นแต่เดิมว่าโคก หนอง นา อันเป็นการเรียกตามการปรับปรุงพื้นที่ให้มีหนอง ขุดสระ ขุดหนอง ขุดคลองไส้ไก่ นำดินมาทำเป็นโคก เป็นที่ดอน เป็นที่ลุ่มสำหรับปลูกพืช 5 ระดับ สูง กลาง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ป่า 3 อย่าง ประกอบด้วย 1 ไม้กินได้ 2 ไม้ทำที่อยู่อาศัย 3 ไม้ใช้สอย เกิดประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ทำให้ร่มเย็น เป็นสุข รวมทั้งปฏิบัติตามทฤษฎีบันได 9 ขั้น คือ ขั้นที่ 1-4 พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น ขั้นที่ 5 คือทำบุญ ขั้นที่ 6 คือทำทาน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ รวมถึงการทำทานด้วยกล้าไม้ ขั้นที่ 7-9 การรู้จักเก็บรักษา การรวมกลุ่มเครือข่ายเพื่อค้าขายผลผลิต ทั้งนี้ คำว่า “อารยะ” แปลว่า สวยงาม “เกษตร” แปลว่า แผ่นดิน “อารยเกษตร” จึงหมายความว่า แผ่นดินที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์ การที่จะทำให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ได้ เราต้องน้อมนำสิ่งที่พระองค์ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ด้วยการนำมาทำให้ดีกว่าเก่าโดยไม่ทิ้งรากฐานหรือทฤษฎีที่เป็นฐานโคกหนองนา บวกกับวัฒนธรรม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ความเป็นไทย ดังพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความตอนหนึ่งว่า “โคก หนอง นา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา อันนี้ก็เป็นการรวม หรือแสดงตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้ ไม่ใช่เป็นโมเดลที่แสดงไว้ในตู้ อยู่คงที่ แต่เป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริง ๆ นำไปใช้ได้อย่างอ่อนตัว อย่างใช้งานได้จริง ๆ แล้วก็หลากหลายได้ โคก หนอง นา นำความหลากหลาย และความอ่อนตัวมารวม เพื่อใช้งานในเรื่องปากท้องและการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจของเรา เพราะฉะนั้น ก็ขอชมเชยท่านทั้งหลายที่มีความคิด มีความกระตือรือร้น มีความรักในวิชาหรือรักในการเกษตร การนำเกษตรมารวมเป็นโคก หนอง นา นี้ ไม่ได้จะมาบอกว่า ต้องทำเป็นแบบนี้ แบบนั้น มันมีหลักการกว้าง ๆ มีเป้าหมายที่แน่นอนคือ ความอุดมสมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และการเสริมคุณภาพชีวิต หัวใจคือคุณภาพชีวิตของเรา…ดังนั้นโคก หนอง นา จึงเป็นการเสริมพื้นที่นี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พวกเราทุกคน ก็ถือว่า สืบสาน ต่อยอด คือ ความต่อเนื่อง และการรู้ความเป็นมา การพัฒนา สืบสาน ต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น แล้วก็ต้องรักษาประเพณี รักษาที่มาที่ไปของประเทศไทยไว้
ในยุครัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ในยุคนี้ คือเกษตร เกษตรคือประเทศ ก็คือผืนดิน (Sustainable Agronomy) คือ อารยประเทศ เกษตรประเทศ ก็คือ อารยประเทศ ทำได้โดยประยุกต์หลาย ๆ ทฤษฎีที่ได้ทรงรับสั่งไว้ อารยะคือเจริญแล้ว เจริญแล้วก็ต้องเจริญในใจก่อน ประเทศเรารวยที่สุดคือ อารยธรรม เรียกได้ว่าเป็น “Cultural Heritage” เมืองไทยมีวัฒนธรรม คนไทยใจดี มีเมตตา ธรรมะ ธรรมโม มีความรู้เรื่องศาสนา มีศาสนาต่าง ๆ ที่รักษาไว้ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะต่าง ๆ ที่รักษาไว้ วัฒนธรรมของเรา มี “Culture” หรือการเป็นคนไทย ประเทศอื่นไม่มี บ้านเรามีวัฒนธรรม มีความเป็นคนไทยเราจึงรอด แต่ไม่ใช่เราคร่ำครึ ประเทศที่มีวัฒนธรรม ไม่ใช่เอาของต่างชาติมาใช้หมด เทคนิคของต่างชาติ เทคโนโลยีของต่างชาติก็ดี แต่เราก็ต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมในบ้านเรา“
“ผู้ใหญ่ฉวีวรรณ กล่าวว่า 14 ไร่ ทำนา 8 ไร่ได้ประโยชน์เท่ากัน แต่ถ้าอยากได้ประโยชน์มากกว่าเดิม พื้นที่ที่เหลือ เราต้องบำรุงดิน โดยการปลูกปอเทือง ปลูกพืชตระกูลถั่ว เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เพื่อให้มูลของสัตว์เหล่านี้ไปบำรุงดิน ปลูกต้นจามจุรีให้ใบร่วง นำฟางไปทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักบำรุงดินให้มีความชุ่มชื้น รวมถึงนำปอเทืองมาหว่าน เพื่อบำรุงดิน และพื้นที่ที่เหลือก็ใช้วิธีห่มดินเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช เพราะดินมีสิ่งมีชีวิตในดินที่จะบำรุงดิน จึงขอให้นายอำเภอทุ่งฝน ช่วยกันทำให้พื้นที่อำเภอทุ่งฝน เป็นพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการเชิญชวนกำนันผู้ใหญ่บ้านและประชาชนจิตอาสาในพื้นที่มาช่วยกันลงแขกเอามื้อสามัคคี ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความเป็นอารยะ สวยสมบูรณ์ดีเด่นเป็นเลิศ เป็นพื้นที่ตัวอย่าง และร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้พื้นที่แห่งนี้มีกินตลอด 365 วัน เป็นรีสอร์ทที่ทุกคนสามารถมาเรียนรู้ มาอยู่ มานอน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตมีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน และเมื่อผู้ใหญ่ฉวีวรรณทำสำเร็จก็จะเป็น Ambassador แล้วพาอีก 10 ครัวเรือนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เป็นต้นแบบที่สมบูรณ์แบบให้ได้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วขยายผลไปยังทุกบ้านในพื้นที่แห่งนี้ เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
นายภควัตร คำพวง พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานี ได้รับงบประมาณดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เป็นพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ จำนวนทั้งสิ้น 372 แห่ง ประเภท HLM 369 แห่ง ประเภท CLM 3 แห่ง เมื่อมีการประเมินทั้ง 372 แห่ง พบว่าอยู่ในระดับ A 28 แห่ง ระดับ B 213 แห่ง ระดับ C 131 แห่ง ซึ่งจะได้เข้าสู่กระบวนการยกระดับจากระดับ C เป็นระดับ B ระดับ B เป็นระดับ A ต่อไป
ด้าน นางฉวีวรรณ แก้วแก่น เจ้าของแปลง HLM กล่าวว่า ตนมีความดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เดินทางมาให้กำลังใจและมอบคำแนะนำอันมีค่าอย่างยิ่ง ประดุจดั่งช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่เราปลูก ไม่ต้องเสียเงินซื้อ มีไก่ไข่ มีปลา มีกบ มีพืชผักผลไม้ทุกอย่างในแปลงแห่งนี้ ซึ่งตนมีพื้นที่ 14 ไร่ เป็นโคกหนองนา 1 ไร่ และเพิ่มเติมเป็น 4 ไร่ สมัยก่อนทำนาอย่างเดียว เลยมีความคิดว่าอยากทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเราเป็นผู้นำ จึงอยากให้ทุกคนมีอยู่มีกิน เป็นผู้นำต้องทำก่อน ทำให้เป็นตัวอย่าง จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา ตามที่พัฒนาการอำเภอได้ประกาศ และได้ไปอบรมโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปลูกพืช 5 ระดับ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และทฤษฎีบันได 9 ขั้น กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง เมื่อผ่านไปหลายปีมันก็จะสมบูรณ์อย่างเต็มพื้นที่ หลังจากปีที่ 2 ก็สามารถขายหน่อ ขายใบตอง ขายกล้วยได้ มีรายได้เพิ่มขึ้นวันละ 300 บาท และขอยืนยันว่า โคก หนอง นา ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างแท้จริง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 701/2567 วันที่ 23 เม.ย. 2567