วันนี้ (8 พ.ค. 67) นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดประกวดสุดยอดผ้าทอจังหวัดหนองบัวลำภู ประจำปี 2567 รอบคัดเลือก โดยมี นางณัฐติกานต์ จันทร์หวร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดหนองบัวลำภู นายศศิน พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู นายพิสิษฐ์ชัย อภัยปิยกุล หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าเข้าร่วมกิจกรรม ณ วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ขวัญตา) ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ ภูมิปัญญาในการผลิตผ้าพื้นถิ่นที่มีการใช้เทคนิคและเอกลักษณ์ประจำถิ่น มาพัฒนาลวดลายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทย
นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จังหวัดหนองบัวลำภูได้จัดโครงการประกวดสุดยอดผ้าทอจังหวัดหนองบัวลำภูขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ ภูมิปัญญาในการผลิตผ้าพื้นถิ่น และส่งเสริมให้กลุ่มผู้ผลิตผ้าไทยได้มีการแสดงความสามารถในการใช้เทคนิคและเอกลักษณ์ประจำถิ่น โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย กิจกรรมการประกวดสุดยอดผ้าทอจังหวัดหนองบัวลำภู กิจกรรมการประกวดสุดยอดภาพถ่ายผ้าทอจังหวัดหนองบัวลำภู กิจกรรมการเดินแบบแฟชั่นโชว์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” กิจกรรมการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอและผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดหนองบัวลำภู และการจัดแสดงนิทรรศการผ้าทอจังหวัดหนองบัวลำภู
นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทย นำโดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำโดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ส่งเสริมให้ทุกจังหวัดร่วมกับชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างความคึกคักและกระตุ้น Soft Power ในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องการรณงค์ส่งเสริมให้ทุกจังหวัด “ใส่ผ้าไทยให้สนุก” ในทุกวันและทุกโอกาส พร้อมส่งเสริมให้ทุกจังหวัดจัดประกวดสุดยอดผ้าจังหวัด ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้าที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดส่งผ้าพื้นถิ่นที่ทอมือ หรือ ทำจากมือ ประเภท ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด ผ้ายก/ผ้ายกดอก ผ้าจก ผ้าเทคนิดผสมผ้าบาติกและผ้าปักมือ ส่งเข้าประกวด ซึ่งเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทย และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ์ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567 ตลอดจนเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทยโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาพัฒนาต่อยอดและยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ รวมถึงการตลาดให้มีความสามารถในการแข่งขันในเวทีสากล ทำให้การผลิตผ้าไทยสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชุมชนอย่างมั่นคง
นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดหนองบัวลำภู ประจำปี 2567 ครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มผ้าฝ้าย กลุ่มผ้าไหม และ กลุ่มผ้าไหมแกมฝ้าย มีผู้ประกอบการส่งผ้าเข้าร่วมประกวด 50 ราย จำนวนผ้า 258 ผืน แบ่งเป็น กลุ่มผ้าฝ้าย 121 ผืน กลุ่มผ้าไหม 109 ผืน และ กลุ่มผ้าไหมแกมฝ้าย 28 ผืน โดยพิจารณาจาก ลวดลาย ความคมชัดของลวดลาย รูปแบบ สีสัน โดดเด่นตรงกับความต้องการของตลาด มีเอกลักษณ์ตามคุณลักษณะของประเภทผ้าที่สะท้อนความเป็นภูมิปัญญาไทย เนื้อผ้ามีความหนาแน่น มีความสม่ำเสมอของสีผ้าและเนื้อผ้า ริมผ้ามีความเรียบร้อยตลอดทั้งผืน มีขนาด สัดส่วน เหมาะสมต่อการใช้งาน ซึ่งจากการพิจารณาของคณะกรรมการในรอบแรกมีผ้าที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 32 ผืน ประกอบด้วย ผ้าไหม 10 ผืน ผ้าไหมแกมผ้า 11 ผืน และผ้าฝ้าย 11 ผืน โดยผู้ผ่านเข้ารอบจะต้องนำเสนอเรื่องราวผลงานอันเกี่ยวเนื่องกับผ้าทอของตน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาและให้คะแนนต่อไป
“ขอขอบคุณสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ขวัญตา) กลุ่มผู้ประกอบการทอผ้า และภาคีเครือข่ายทุก ๆ ท่านที่ช่วยกันจัดงานในครั้งนี้ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตนขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย เพื่อร่วมกันแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมกันสืบสาน รักษามรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดหนองบัวลำภู ส่งต่อสิ่งที่ดีงามให้สืบทอดชั่วลูกชั่วหลาน ให้ผ้าเป็นสินค้าอัตลักษณ์สู่สากล ตามเป้าหมาย “แพรพรรณลุ่มภู สู่สากล” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำรายได้มาสู่ชุมชม ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในจังหวัดและกระจายไปถึงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุวิทย์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #MOI
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 811/2567 วันที่ 8 พ.ค. 2567