เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 67 นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้แจ้งให้จังหวัดร่วมกับชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด จัดประกวดสุดยอดผ้าจังหวัด ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้าที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดส่งผ้าพื้นถิ่นที่ทอมือ หรือทำจากมือ โดยที่ตนและนางมณีรัตน์ พรหมเขียว ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลาร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกัน ซึ่งในการประกวดผ้าครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นางมุกดา ยังอภัย ณ สงขลา ประธานแม่บ้านมหาดไทยอำเภอหาดใหญ่ นางสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา นางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นายปัญญา พูลศิลป์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้า 238 inspiration house และนางจารุวรรณ จันทร์มา ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ร่วมเป็นกรรมการพิจารณาคัดเลือก
นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทย อนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน มีการผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย พร้อมทั้งพัฒนาผ้าไทย ตามโครงการ“ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” โดยผ้าที่ชนะเลิศในระดับจังหวัดจะนำทูลเกล้าถวายสมเด็จพระบรมราชินี ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต่ออีกว่า การประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดสงขลาในครั้งนี้ มีผ้าส่งเข้าประกวด จำนวน 58 ผืน แยกเป็นผ้าทอ 23 ผืน, ผ้ามัดย้อม 1 ผืน, ผ้าบาติก 30 ผืน และผ้าพิมพ์ลาย 4 ผืน โดยจะทำการคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ผืน ภายใต้หลักเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งแยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ลวดลายมีความคมชัด สม่ำเสมอ, มีความสม่ำเสมอของสีและเนื้อผ้า และความเรียบร้อยของผืนผ้า โดยผลการตัดสิน ผ้าลายราชวัตร ของ นางสาวจงกลณี สุวรรณพรรค สมาชิกศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดผ้าจังหวัดสงขลา ประจำปี 2567
นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวในช่วงท้ายว่า การจัดการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดสงขลา ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ ถือเป็นงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ที่แสดงออกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด เป็นสิ่งล้ำค่าของจังหวัดสงขลา ผ่านสิ่งที่จับต้องไม่ได้คือภูมิปัญญา แต่สิ่งที่จับต้องได้คือชิ้นงานที่เราสามารถแปลงเป็นรูปธรรมให้หลากหลายด้วยพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์มีพระปณิธานมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริการส่งเสริมผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งผ้าไทยมีนัยสำคัญที่คนไทยรับสืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษ และสามารถสร้างสรรค์ ต่อยอดทำขึ้นมาเองได้ เพื่อสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน ด้วยการส่งเสริม และกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัย เป็นที่นิยมของทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส ซึ่งนับตั้งแต่จังหวัดสงขลาได้ขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งจังหวัดสงขลาได้รณรงค์ในการใช้และสวมใส่ผ้าไทยสีธรรมชาติ กับแนวทางคนใส่สนุก คนให้สุขใจ สร้างรายได้ในชุมชนมาอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งส่งเสริมการจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ผลิตและช่างทอผ้า ในการใช้สีธรรมชาติแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของการใช้สีธรรมชาติ รวมถึงนำวัสดุพื้นถิ่นในชุมชนมาใช้ในการทอ เพิ่มคุณค่า และมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยังยืน และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ด้านความเป็นอยู่ และการรักษาสิ่งแวดล้อม
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 820/2567 วันที่ 8 พ.ค. 2567