วันนี้ (14 พ.ค. 2567) นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดเลย ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมภูเรือ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดเลย โดยมี นางธารตะวัน จรูญพงศ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย และประธานคณะกรรมการคัดเลือกการประกวดสุดยอดผ้าไทยจังหวัดเลย ประจำปี 2567 พร้อมด้วยคณะกรรมคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นางเตือนใจ บุตรคุณ รองประธานแม่บ้านมหาดไทย นายวิลาศ บุญโต พัฒนาการจังหวัดเลย ดร.ณัณธิญาจ์ มังคละคีรี วัฒนธรรมจังหวัดเลย นางสาวอัญชลี เชื้อบุญมี ผู้อำนวยการหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดเลย นางสาวนพรัตน์ แก้ววงษ์ษา หัวหน้าสำนักงานฯ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย รศ.ไทยโรจน์ พวงมณี อาจารย์คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย นายณภัทร แพงโสพา ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นายดวงเด่น ไชยสุรินทร์ ประธานคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลย และ นางสร้อยสุดา ศาลาฤทธิ์ นักวิชาการมาตรฐาน ผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดเลย และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มทอผ้า ร่วมพิธี
นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า การจัดประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดเลย ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย และเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ รวมไปถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าทอของจังหวัดเลยให้รู้จักอย่างแพร่หลาย ตลอดจนเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดให้ทุกจังหวัดได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมการประกวดสุดยอดผ้าของแต่ละจังหวัด อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้มั่นคง
นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกวดสุดยอดผ้าไทยจังหวัดเลย ประจำปี 2567 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า ช่างทอผ้า ร่วมส่งผ้าเข้าประกวดจากทั้ง 14 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 76 ผืน ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาผ้าทุกชิ้นด้วยความเป็นธรรม พิถีพิถัน โดยพิจารณาถึงในความคมชัด สม่ำเสมอของลายผ้า รูปแบบของลวดลาย ความสวยงาม สีสัน ความโดดเด่นที่ตรงกับความต้องการของตลาด ความเป็นเอกลักษณ์ตามคุณลักษณะของประเภทผ้าที่สะท้อนความเป็นภูมิปัญญาไทย ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจากภูมิปัญญาไทย ความสม่ำเสมอของสีและเนื้อผ้า ความเรียบร้อยของผืนผ้า และผ้าทุกผืนต้องมีขนาดความกว้างxยาว ไม่น้อยกว่า 1 x 4 เมตร
นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวต่อว่า หลังจากที่คณะกรรมการได้พิจารณาผ้าที่เข้าร่วมการประกวดทั้งหมดแล้ว ผลการตัดสินปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ได้รับรางวัลเป็นเงินสด จำนวน 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ผ้าฝ้ายมัดหมี่บ้านหินเกิ้ง กลุ่มทอผ้าบ้านหินเกิ้ง ตำบลโคกขมิ้น อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยนางบุญถม ไทยลาว รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับรางวัลเป็นเงินสด จำนวน 2,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ชิ้นงานมาลา แสงภา บูชาคุณ จากกลุ่มผ้าทอมูนมังแม่ ตำปากปวน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยนายภาณุวิชญ์ สารวงษ์ รางวัลชมเชย จำนวน 5 รางวัล ได้รับรางวัลเป็นเงินสด จำนวน 1,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ 1.ชิ้นงานไหมมัดหมี่ หมี่ร่ายนาคเชิงเทียน จากกลุ่มทอผ้าผานางผาเกิ้ง ตำบลผาอินแปลง อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย โดยนางขวัญใจ ดงรังษี 2.ชิ้นงานไหมมัดหมี่ขิตต่อพื้นลายคมห้า จากกลุ่มทอผ้าบ้านหนองน้ำใส ตำบลผาอินแปลง อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย โดยนางบุญมี มะกา 3.ชิ้นงานไหมมัดหมี่ขิตลายดอกฝ้ายเมืองเลย จากกลุ่มทอผ้าบ้านหนองน้ำใส ตำบลผาอินแปลง อำเภอเอราวัณ โดยนางจันที สันทา 4.ชิ้นงานผ้าฝ้ายทอมือลาย “สนขอทอง” จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านกกก้านเหลือง ตำบลท่าลี่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย โดยนางจงลักษณ์ ไชยเลิศ และ 5.ชิ้นงานผ้าฝ้ายลายหมี่เกาะหัวใจ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพแม่บ้านเกษตรกรบ้านโนนกกข่า โดยนางต้นจันทน์ แก้วใส
ด้าน นางธารตะวัน จรูญพงศ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทย และประธานคณะกรรมการคัดเลือกการประกวดสุดยอดผ้าไทยจังหวัดเลยประจำปี 2567 กล่าวว่า ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย ได้ดำเนินการขับเคลื่อน โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก มาโดยตลอดเพื่อร่วมสืบสานมรดกทางภูมิปัญญา และต่อยอด งานหัตถศิลป์ หัตถกรรมของผ้าไทยพื้นถิ่นให้มีความร่วมสมัยก้าวสู่สากลมากยิ่งขึ้น และที่ผ่านมาได้ทำการ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันประชาสัมพันธ์เผยแพร่และสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยให้แพร่หลาย โดยเฉพาะผ้าทอมือโดยช่างฝีมือคนเลยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากคนในชุมชน ท้องที่ของจังหวัดเลย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และเป็นการส่งเสริม รักษาภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ตลอดไป พร้อมทั้งเน้นย้ำให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเลยและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั้ง 14 อำเภอ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการส่งเสริมการพัฒนากลุ่มทอผ้า กลุ่มหัตถกรรมรวมทั้งกลุ่ม OTOP ต่าง ๆ ในชุมชนให้มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 865/2567 วันที่ 14 พ.ค. 2567