เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 67 นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้การนำของ นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ผ้าพื้นถิ่นอัตลักษณ์เมืองนคร (แปลงหม่อนไหม) เพื่อหนุนเสริมการผลิตวัสดุในพื้นที่ยกระดับสู่การพัฒนาเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยร่วมกับกลุ่มทอผ้าบ้านเนินมวง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิด “ศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นไหมไว้ทอในกลุ่มแบบครบวงจร” ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 4 บ้านเนินมวง ตำบลขอนหาด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้มีการแบ่งพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 2 ไร่ อาคารเลี้ยงไหม 1 หลัง และอาคารทอผ้า 1 หลัง โดยบูรณาการร่วมกับกรมหม่อนไหม ในการสนับสนุนต้นหม่อน การถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรมสมัยใหม่ การสร้างการรับรู้ให้เกิดการรวมกลุ่ม การพัฒนาทักษะการทอผ้า การพัฒนาลวดลายผ้าและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลายและมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ เขต 5 ชุมพร ได้มีการนำตัวดักแด้ส่งมอบกับกลุ่มทอผ้าบ้านเนินมวง จำนวน 5,000 ตัว พร้อมทั้งให้คำแนะนำวิธีการเลี้ยงและดูแลตัวดักแด้ให้เจริญเติบโตตามหลักวิธี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก็จะสามารถสาวเป็นเส้นด้ายได้
“การขับเคลื่อน “ศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นไหมไว้ทอในกลุ่มแบบครบวงจร” ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการน้อมนำแนวพระดำริ Sustainable Fashion ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมีความเพียรพยายามในการศึกษาค้นคว้า ทั้งในด้านสีทอผ้า ลวดลาย รูปแบบการตัดเย็บ เพราะทรงเล็งเห็นว่า แฟชั่น คือ ความชอบ เป็นรสนิยมคนที่ไม่คงที่ แต่ก็สามารถวิวัฒนาการได้ โดยเฉพาะลายพระราชทาน ที่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทุกช่วงวัย เป้าหมายสำคัญ คือ ภูมิปัญญาไทยได้ช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยเพราะงานหัตถกรรม ที่สามารถทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้และเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำ คือ การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ทั้งการปลูกไม้ให้สีธรรมชาติ การแลกเปลี่ยนวัสดุภายในประเทศระหว่างกัน และการศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านสีทอผ้าจากธรรมชาติ ” นายขจรเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม
นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์สืบสานผ้าพื้นถิ่นและต่อยอดให้มีกระบวนการทอผ้าที่มีความหลากหลายตามความนิยมของท้องตลาดมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นกระบวนการที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ จึงทำให้มีกลุ่มเกษตรกรสนใจการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นไหมไว้ทอในกลุ่มแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยกรมหม่อนไหมได้ให้การสนับสนุนด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ เช่น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเลือกเส้นไหมเพื่อผลิตผ้าไหมให้ได้ผ้าไหมที่มีคุณภาพ พัฒนาการย้อมสีเส้นไหมการขอเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย “ตรานกยูงพระราชทาน” โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชมีเป้าหมายที่สำคัญคือ เราจะมีผ้าที่มีกระบวนการผลิตในพื้นที่ทั้งระบบ ตั้งแต่ การปลูก การเลี้ยงไหม กระบวนการผลิต รวมถึงการย้อมสีธรรมชาติ ที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ทั้งหมด มุ่งสู่ความเป็น “ผ้า GI” แห่งแรกของจังหวัด ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและมีคุณภาพมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกมากขึ้นจะได้ดำเนินการขับเคลื่อนและต่อยอดขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
“ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุนทำให้ผืนผ้าไทยมีลมหายใจ ทำให้ผู้ประกอบการและองคาพยพของผ้าไทยทั้งระบบสามารถเดินหน้าเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะผ้าไทยมิได้เป็นเพียงแค่เครื่องนุ่งห่มเท่านั้น แต่เป็นเครื่องสะท้อน “รากเหง้าทางวัฒนธรรม” เป็นเลือดเนื้อและชีวิตของคนไทยที่พวกเราทุกคนจะเป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุงรักษาด้วยการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” และขอให้ทุกท่านได้ภาคภูมิใจว่า เงินทุกบาทที่ซื้อผ้าไทยไปจะตกไปถึงคนปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย คนเฒ่าคนแก่ที่อิ้วฝ้าย อิ้วไหม ทอผ้า ย้อมสี อย่างครบวงจร ท้ายนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกคนได้ร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยเพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ดีกินดีมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนสืบไป” นายขจรเกียรติ กล่าวในช่วงท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 888/2567 วันที่ 17 พ.ค. 2567