วันนี้ (13 มิ.ย. 67) เวลา 10.00 น. ที่ห้อง War Room ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความสำเร็จของการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ตามโครงการ SDG Localization ใน 15 จังหวัด” ในงานสัมมนา “มุมมองท้องถิ่น : การเสริมสร้างการบริหารจัดการท้องถิ่นและการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในท้องถิ่นของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก” จัดโดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำภูมิภาคเอเซียแฟซิฟิก โดยมี นางมณฑ์หทัย รัตนนุพงค์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมรับฟัง โอกาสนี้ Mr. Christophe Bahuet ผู้อำนวยการ UNDP ประจำประเทศไทย Mr. Adityawarman Darudono ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาพื้นที่ชุมชน กระทรวงหมู่บ้านการพัฒนาพื้นที่ด้อยโอกาสและการย้ายถิ่นฐานของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นางฝาหรีดะฮ์ มุเส็มสะเดา ปลัดเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อาจารย์ ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการ SDGs MOVE ตลอดจนถึงภาคีเครือข่าย UN ภาคีเครือข่ายของสหภาพยุโรป (EU) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากภูมิภาคต่าง ๆ ร่วมรับฟังผ่านระบบ Zoom Meeting
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนคนทำงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของประเทศไทย ตนมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมพูดคุยและแบ่งปันความสำเร็จของการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่การปฏิบัติในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ดังเช่นการดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) ในจังหวัดนำร่องทั้ง 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา กรุงเทพฯ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย UNDP และ EU ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเร่งผลักดันขยายผลการขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 61 จังหวัด ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของพวกเราชาวมหาดไทย “โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ นำ SDGs สู่พี่น้องประชาชนทั้ง 7,255 ตำบล มากกว่า 75,000 หมู่บ้าน ใน 7,849 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมทั่วประเทศ และทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
“กระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายมุ่งมั่นจับมือร่วมกันในการทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ บรรลุความสำเร็จอย่างยั่งยืน 100% ครบทุกพื้นที่ของประเทศ เพราะเราเห็นว่า SDGs เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยต้อง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และแม้ว่าการทำงานร่วมกับ UNDP และ EU จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและบุคลากร จึงต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 15 จังหวัด แต่ด้วย Passion ของคนมหาดไทย ที่มีปณิธานการทำงานว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เราจึงทำงานเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่มีข้อจำกัด นั่นหมายความว่า แม้ว่าภาครัฐจะไม่มีงบประมาณ แต่กลไกของมหาดไทยในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของพื้นที่จังหวัด นายอำเภอผู้เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของพื้นที่อำเภอ จะทำงานแบบบูรณาการภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ร่วมกันบูรณาการสรรพกำลัง อันได้แก่ ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรอื่น ๆ รวมทั้งบูรณาการงาน เพื่อทำให้ประชาชนทั้ง 76 จังหวัด ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า ตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยในการขับเคลื่อน SDGs ครอบคลุมทั่วประเทศ เกิดจากปรากฏการณ์ที่สำคัญของคนมหาดไทยทั่วประเทศ ในพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน โลกนี้เพื่อเรา” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ณ สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้โลกใบเดียวได้มีอายุยืนยาว ด้วยรูปแบบวิธีการทำงานที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เริ่มจากการเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนข้าราชการและกลไกมหาดไทยในระดับพื้นที่ ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ ความตื่นตัว ปลุกระดมให้เกิด passion ปลุกไฟแห่งอุดมการณ์การทำงานให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน อย่างไม่มีวันหยุด เพราะชีวิตของข้าราชการมหาดไทย ต้องทุ่มเทเวลาทั้ง 24 ชั่วโมงเพื่อประชาชน ช่วยกันหนุนเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามด้านต่าง ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยสงครามประเทศต่าง ๆ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชการบริพารในพระองค์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร รวมถึงการมีจิตอาสา ถ่ายทอดสู่ประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ทำให้ประชาชนสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกโอกาส 2) “การสร้างเครือข่ายการทำงานระดับหน่วยงาน” ด้วยการสร้างทีม 7 ภาคีเครือข่าย เข้าร่วมฝึกอบรมและใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้หลักสูตรผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง : MOI SMART Agent for CAST) ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง (MOI CAST) ทีมจังหวัด (P(Province)CAST) ทีมอำเภอ (D(District)CAST) ทีมตำบล (T(Tambon)CAST) และทีมหมู่บ้าน (V(Village)CAST) รวมจำนวนกว่า 300,000 คน เป็นกำลังของสังคมไทยในการพัฒนาทุกมิติ เพื่อเสริมสร้างกระบวนการทำงานร่วมกัน ทั้งการร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยมี War Room เป็นศูนย์อำนวยการและประสานงานกลางการขับเคลื่อนการพัฒนา 3) “การสร้างระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์” เพื่อชี้เป้า สำรวจ ติดตาม หนุนเสริม การดำเนินงานตามเป้าหมาย SDGs และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiQM ที่เคยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย จนประสบความสำเร็จในการดูแลประชาชนอย่างดีเยี่ยม และภายหลังจากสิ้นสุดสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย จึงได้นำแพลตฟอร์มนี้มาเป็นเครื่องมือในการบันทึกฐานข้อมูลพี่น้องประชาชน 15 ล้านครัวเรือน จาก 23 ล้านเลขที่บ้านตามทะเบียนบ้าน โดยจำนวนนี้ประมาณ 7-8 ล้านเลขที่บ้านเป็นเลขของสถานที่ราชการ วัด สถานีอนามัย มัสยิด และอีกส่วนเป็นสังคมเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจาก 15 ล้านครัวเรือนในแพลตฟอร์ม เราพบความเดือดร้อนของประชาชนจาก 35 ตัวชี้วัด อาทิ ไม่มีที่อยู่อาศัย มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่มีที่ดินทำกิน ป่วยติดเตียง ไม่มีทุนการศึกษา ไม่มีอาชีพ ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่มีน้ำดื่ม หรือได้รับผลกระทบจากยาเสพติด ซึ่ง “เทศบาลตำบลปริก” ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตัวอย่างที่ได้ใช้ระบบดังกล่าวในการนำเสนอข้อมูล ทำให้กระทรวงมหาดไทยได้รับทราบข้อมูลและกำหนดเป้าการพัฒนาได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม และ 4) “การถ่ายทอดส่งต่อแนวทางการพัฒนาไปยังคนรุ่นต่อไป” ด้วยการนำตัวอย่างความสำเร็จจากการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการทำงาน ขั้นตอน วิธีการ รูปแบบ ตลอดจน Best Practice ถ่ายทอดไปสู่ข้าราชการ พนักงาน บุคลากร ตลอดจนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญ เป็นพลเมืองที่ดีที่จะรับสิ่งเหล่านี้ไปขับเคลื่อนต่อไปให้เกิดความยั่งยืน
“กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานให้ประสบความสำเร็จ เพราะเรายึดมั่นกับคำกล่าวที่ว่า “การสร้างตัวอย่างความสำเร็จมีค่ายิ่งกว่าคำพูด” ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพียงแค่ข้อที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ และข้อที่ 11 การพัฒนาเมืองให้มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน แต่พวกเราชาวมหาดไทยทุกคนได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 ข้อ เพราะทุกข้อต่างมีความสำคัญกับประชาชน และเป็นที่น่ายินดีว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทาง UN จะนำเอา 165 ตัวชี้วัด (KPIs) ของ SDGs มาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยเพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายทุกพื้นที่ของประเทศ และกระทรวงมหาดไทยมีความยินดีที่จะได้แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดตัวอย่างที่ดีเหล่านี้ไปยัง UN Thailand รวมถึงผู้สนใจทุกภาคส่วน เพื่อขยายผลถ่ายทอดความสำเร็จไปยังทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย UNDP และ EU เพื่อทำให้โลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคน เป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนของประชาชนคนไทยและคนทั้งโลกตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
ด้าน นางฝาหรีดะฮ์ มุเส็มสะเดา กล่าวว่า เทศบาลตำบลปริก ภายใต้การนำของนายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก มุ่งมั่นในการนำนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในด้านการขับเคลื่อน SDGs สู่การปฏิบัติงานเพื่อบริการสาธารณะให้กับพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ซึ่งแต่เดิมเทศบาลตำบลปริกจะทำงานแค่ตามอำนาจหน้าที่ (Routine Job) แต่เราเห็นความสำคัญดังที่ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวว่า ทั้ง 17 เป้าหมายคือประโยชน์ที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชน เราจึงเริ่มต้นด้วยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยแนวคิด “ระเบิดจากข้างใน” มาพัฒนาในทุกมิติ อาทิ มุ่งสร้างสังคมสงบสุข เข้าถึงความยุติธรรม สร้างเสริมศักยภาพให้กับประชาชน สร้างการมีส่วนร่วม 7 ภาคีเครือข่าย ส่งเสริมให้คนเข้าถึงพลังงานทางเลือก การสามารถสร้างโอกาสด้วยการรับนักเรียนเข้าเรียนตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถึงระดับมัธยมศึกษา โดยใช้หลักสูตรท้องถิ่น เรียนรู้ทั้งวิถีชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นทักษะชีวิตให้เด็กนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย เป็นผู้มีจิตอาสา สามารถ “รู้ รับ ปรับตัว” ทำให้ไม่ว่าพื้นที่ปริกจะเกิดสาธารณภัย ทั้งหน้าแล้ง หน้าฝน หรือภัยใด ๆ ชาวปริกก็จะรู้วิธีแก้ไขภัยพิบัติ
ด้าน Mr. Christophe Bahuet กล่าวว่า UNDP ได้ศึกษาประสบการณ์ทำงานด้วย Local Lens ทำให้ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญ และจากการทำงานร่วมกับ 15 จังหวัดนำร่อง SDG Localization สะท้อนให้เห็นความพร้อมของ อปท. และประชาชนที่สามารถเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์อื่น ๆ ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ และยังพบว่า “การสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1155/2567 วันที่ 13 มิ.ย. 2567