วันนี้ (15 มิ.ย. 67) เวลา 11.20 น. ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการแถลงข่าว “การส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาพิเศษ “การส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โอกาสนี้ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษา อบก. นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นผู้ร่วมแถลงข่าว โดยผู้บริหารส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า งานวันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะเป็นการพัฒนากิจกรรมด้านหนึ่ง คือ “การพัฒนาการผลิตผ้าไทยให้สอดรับกับบริบทของโลกสมัยใหม่และแนวโน้มโลกในอนาคต” ซึ่งในปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นโจทย์ที่ประชาคมโลกและประเทศไทยให้ความสำคัญ และเป็นเรื่องที่ “ไม่ทำไม่ได้” คนไทยทุกคน “ต้องตั้งรับปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม” ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 ควบคู่การส่งเสริมวิถีการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นกลไกหนึ่งที่นำไปสู่การปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการน้อมนำพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานแนวทาง “การใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้าไทย” เป็นนัยสำคัญของการวางรากฐานให้กับวงการผ้าไทยระยะยาวของระบบเศรษฐกิจ เพื่อทำให้การผลิตผ้าไทยก้าวสู่การตลาดที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่ท่านรอง นรม. และรมว.ทส. ได้เป็นผู้นำร่วมกับ มท. เปิดศักราชการ “รักษาโลกใบเดียวนี้ของเรา” ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของเพียงแค่ 2 กระทรวงเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคผ้าไทยทุกคน ที่จะเป็นส่วนสำคัญทำให้เราสามารถประกาศความสำเร็จว่า การที่พวกเราสวมใส่ผ้าไทยจะได้แสดงตนเป็นพลเมืองดีของโลกที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และที่สำคัญที่สุดผ้าไทยได้ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับปัจจัย 4 ด้านเครื่องนุ่งห่มให้กับประเทศชาติของเรา
“มท. มีภารกิจที่สำคัญในฐานะเป็นกระทรวงด้านความมั่นคงภายใน ขับเคลื่อนงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน” ซึ่งคำว่า กระทรวงความมั่นคงภายในมีนัยสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนผลักดันภารกิจของประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 ต่อเนื่องจากพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 62 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” และพวกเราโชคดีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยทรงลงมาแก้ไขในสิ่งผิด ทำให้ผ้าไทยเป็นตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จ เริ่มจากการพระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เพื่อเปลี่ยนความเชื่อของคนไทยที่เคยคิดเพียงว่าชุดผ้าไทยมันเชย มันไม่สวย ต้องใส่เฉพาะในงานพิธีการ พร้อมทั้งพระราชทานคณะทำงาน อาทิ ครูต้อง ศรินดา ฟอร์ด Vogue Thailand หมู อาซาว่า จ๋อมเธียร์เตอร์ อู๋ WISHARAWISH ป้อม ธีระพันธ์ เถ่า มีชัย โรจ Issue เพื่อช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดี เกิดความมั่นคง ด้วยบุคลากรที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ด้วยการส่งผ่านแนวพระดำริสู่พี่น้องประชาชน ทั้งนี้มีปรากฏการณ์ที่สำคัญ คือ เราน้อมนำพระดำริ Sustainable Fashion มาขับเคลื่อนให้ชาวบ้านรู้จักใช้สีธรรมชาติ รู้จักใช้วัสดุจากธรรมชาติ เส้นฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ใช้สีจากหิน ดิน ทราย ต้นไม้ใบหญ้า ฝน เปลือกไม้ ขี้เถ้า ซึ่งทุกคนก็ถูกอกถูกใจว่าเมื่อนำพระดำริมาทำตามพระองค์ท่านแล้ว รายได้ดีขึ้น เพราะเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ผ้าไทยมีรายได้เพียง 500 ล้านบาท แต่ปัจจุบันตัวเลข 3 ปี ตั้งแต่ปี 64 – 66 เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยเพราะพระดำริของพระองค์ ทั้งลายผ้าพระราชทาน รูปแบบตัดเย็บ และเฉดสีต่าง ๆ ด้วย” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม พระองค์ทรงเน้นย้ำว่า ถ้าจะทำให้คนทั้งโลกยอมรับ นอกจากสีสัน ลวดลาย รูปแบบ บรรจุภัณฑ์ และเรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว ต้องลดโลกร้อนด้วย ต่อมาจึงพระราชทานเครื่องหมาย Sustainable Fashion เป็นสัญลักษณ์แสดงผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตทุกขั้นตอนที่เป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีตัวอักษร S ซึ่งเป็นพระนามของพระองค์ท่าน การันตีว่า เราได้ร่วมเป็นพลเมืองที่ดีของโลก ที่ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตปริ้น โดยมีพี่น้องผู้ประกอบการที่หัวไวใจสู้ เป็นบัวพ้นน้ำ ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์โดย อบก. หลายราย เช่น ผ้าใยกัญชง เพชรบูรณ์ ผ้าฝ้าย ลำพูน เป็นต้น และขณะนี้ คณะทำงาน (Third Party) ยังคงเดินสายรับรองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น “เพราะเรามีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเป็นธงชัย” กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้น้อมนำมาปฏิบัติ นำข้อมูลข่าวสารไปสื่อสารกับพี่น้องประชาชนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อบก. ต่อเนื่องมาจากการส่งเสริมการใช้ถังขยะเปียกลดโลกร้อน และการบริหารจัดการขยะ ที่เราทำมาถึง 7 ปี โดยสามารถคำนวณตัวเลขและได้รับการรับรองว่าเราสามารถลดการปลดปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลอดทั้งโครงการ 1.86 ล้านตันคาร์บอนเครดิต สูงกว่าเป้าหมายและสำเร็จไวกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดในปี 2030 ถึง 6 ปี
ดร.วันดี กล่าวว่า แม้ว่าผ้าย้อมสีธรรมชาติจะมีราคาสูงกว่าผ้าสีเคมีมากถึงเท่าตัว แต่ด้วยพลังความร่วมมือของพวกเราทุกคนในการน้อมนำพระดำริ Sustainable Fashion ส่งผลทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ให้หันมาใช้สีธรรมชาติควบคู่กับการพัฒนารูปแบบการถักทอ ตัดเย็บ เรื่องราว และบรรจุภัณฑ์ ด้วยพระกรุณาคุณของพระองค์ ทำให้มากกว่า 100,000 ครอบครัว เกิดการเปลี่ยนแปลงจากลำบากมากในช่วงโควิด-19 ปัจจุบันสามารถลืมตาอ้าปากได้ ทั้งนี้ ผ้าไทย 1 กิโลกรัม ถ้าเปลี่ยนจากการย้อมสีเคมีเป็นย้อมสีธรรมชาติ ทุกสีจะสามารถลดได้ 1 กิโลกรัม และสามารถไปขอขึ้นทะเบียนตรารับรองจาก อบก. และเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้ร่วมต้อนรับรองเลขาธิการ UN ทำให้ได้ทราบว่า ปีนี้จะมี COP29 ที่อาเซอร์ไบจัน ซึ่งจะมีการรับรองการกำหนดราคาของสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการชาวไทยทุกคน ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้
“สมาคมแม่บ้านมหาดไทยขอขอบคุณประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด ที่ทำให้เกิดกลไกความต้องการของผู้บริโภคสูงเพิ่มมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมให้ประชาชนสวมผ้าไทยในทุกวัน ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ทั้งแสดงแบบผ้าไทย ประกวดผ้าไทย จนทำให้ผ้าสีธรรมชาติเป็นที่แพร่หลายเพิ่มขึ้น ทำให้เกิด quick win หนุนเสริม supply chain ของชาวบ้านในการผลิตผ้าสีธรรมชาติกันอย่างเต็มกำลัง สอดคล้องความต้องการตลาดต่างประเทศ และยังส่งผ่านองค์ความรู้ไปยังลูกหลานเยาวชน จึงฝึกให้ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป เพราะการที่เราเป็นพลเมืองดีของโลก การที่เราทำตามพระองค์ท่าน จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าที่เขาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจากนานาประเทศ” ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติม
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ขอบคุณ มท. ที่ให้โอกาส อบก. เป็นภาคีเครือข่ายทำให้ผ้าไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ด้วยกลไกในการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นและคาร์บอนเครดิต และมีการรับรองตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเราพบว่า นับแต่เราเข้ามารับรองคาร์บอนฟุตปริ้นแล้ว ผ้าไทยขายดิบขายดี มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก และตัวเลขที่เกิดจากการเปลี่ยนสีเคมีเป็นสีธรรมชาติในการย้อมผ้า ก็สามารถลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วเป็นจำนวนมาก และในวันที่ 1 ต.ค. ที่จะถึงนี้ กรมสรรพสามิตได้ประกาศตัวเลขภาษีคาร์บอน ที่อัตรา 200 บาท/ตันคาร์บอนเครดิต ซึ่งไม่ได้เป็นราคาที่สูง เพราะหากเทียบกับสหภาพยุโรปอัตรา 100 เหรียญยูโร (4,000 บาท) ดังนั้นเราต้องช่วยกันเปลี่ยนที่ตัวเอง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น เราจะต้องจับมือกันไปถึงดวงดาวให้ได้ ทำให้เขามีรายได้ มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่านี้
นางประเสริฐสุข กล่าวว่า ขอชื่นชมท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยที่เป็นผู้นำขับเคลื่อนการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อโลกใบเดียวนี้ ทั้งเรื่องถังขยะเปียกลดโลกร้อนและผ้าไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนประสบความสำเร็จ โดยมีคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เป็นกลไกหนุนเสริมให้ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลังจากนี้ พช. และ อบก. จะพัฒนาระบบการรับรองให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ไม่เป็นภาระกับประชาชน เราจะช่วยกันพัฒนาทำให้ผ้าไทยได้รับการยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะภูมิปัญญาท้องถิ่นของเราในเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกใบเดียวนี้ของเรา
นายธนันท์รัฐ กล่าวว่า คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก มุ่งมั่นในการสนองพระดำริทูลกระหม่อมหญิงสิริวัณณวรี โดยนำแนวนโยบายของ มท. และ พช. เผยแพร่องค์ความรู้ ซึ่งด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ ส่งผลทำให้จากเดิมที่จังหวัดลำพูนและสกลนคร เคยใช้สีเคมี 100% เราก็พัฒนาจนปัจจุบันสามารถรับรองสินค้าผ่านตราพระราชทาน Sustainable Fashion โดยเมื่อสแกนป้ายก็จะเห็นชื่อหมู่บ้าน/ชุมชนและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการรับรองสินค้าที่ตรงกับเทรนด์โลก คือ เป็นสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมโลก เกิดความยั่งยืนกับประเทศไทยและโลกของเรา เพราะผ้าที่ทอด้วยสีธรรมชาติ เมื่อหมดอายุการใช้งานก็สามารถนำไปใช้เครื่องแยกและปั่นเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้ โดยมีตัวอย่างกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ เช่น ดอนกอยโมเดล นาหว้าโมเดล batik model เป็นต้น และเราจะมุ่งมั่นในการศึกษาและพัฒนาประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายสยาม กล่าวว่า ตลอดช่วง 2 เดือนที่ พช. ได้ MOU ร่วมกับ อบก. ทำตัวชี้วัดในเรื่องคาร์บอนฟุตปริ้น เพื่อทำให้ผ้าไทยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ และทำให้เรารู้ว่าลดมากแค่ไหน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงคนที่เคยเชื่อแบบเดิม ๆ มันไม่ง่าย ดังนั้น เราต้องทำให้สินค้าเหล่านั้นมีมูลค่าสูงขึ้น มีช่องทางการจำหน่ายที่มากขึ้น และมีปริมาณสินค้ามากขึ้น โดย พช. มุ่งส่งเสริมให้เกิดการรับรองการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการเพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน เราจะส่งเสริมสร้างตลาดใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1186/2567 วันที่ 15 มิ.ย. 2567