วันนี้ (16 มิ.ย. 67) นายคเณศวร เกษอินทร์ นายอำเภอกระนวน เปิดเผยว่า ตามที่นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยมาตรการเชิงรุก ทั้งการป้องกันและปราบปราม ตลอดจนมาตรการเข้มข้นและจริงจังในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้ทุกอำเภอ จัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด Community Isolation : CI ใช้สถานที่ชุมชนเป็นฐานปฏิบัติการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาและให้นายอำเภอทุกอำเภอใช้กองร้อยอาสารักษาดินแดน (อส.) และพื้นที่ภายในอำเภอ เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพที่ผ่านการบำบัดจากโรงพยาบาลจิตเวช มาอยู่ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดน เพื่อฟื้นฟู ฝึกอาชีพ เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ ด้วยแนวคิด “เอาชนะทางความคิด ให้โอกาส ให้ที่ยืน และให้อาชีพ”
นายคเณศวร เกษอินทร์ นายอำเภอกระนวน กล่าวว่า หลังจากการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาแล้ว ในช่วงต่อไปจะเป็นการติดตามผลของอำเภอกระนวน นั่นคือการเยี่ยมติดตามพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ซึ่งตนพร้อมด้วย น.ส.สุภิดา ทองแย้ม นายกกิ่งกาชาดอำเภอกระนวน นายพงษ์ศักดิ์ ทรัพย์ศิลาทอง สาธารณสุขอำเภอกระนวนพร้อมด้วย ตำรวจ สภ.กระนวน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลดูนสาดและตำบลห้วยยาง ผู้นำชุมชน อสม. ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนติดตามความเป็นอยู่ ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูและครอบครัว จำนวน 14 ราย ในพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลดูนสาด และ ตำบลห้วยยาง พบว่าสามารถใช้ชีวิตในชุมชนแบบปกติไม่กลับไปเสพซ้ำอีก โดยบางส่วนได้ย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการเลือกปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ป้องกันไม่ให้ตัวเองกลับไปอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำอีก
“นอกจากนี้ อำเภอกระนวนยังร่วมกับชุมชนดำเนินการ Re X-ray เพื่อค้นหาคัดกรองผู้เสพ/ผู้ป่วยในชุมชน ตามฐานข้อมูลของกรมการปกครอง และเบาะแสการสืบสวนข่าว โดยนำเข้าระบบศูนย์คัดกรองเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดโครงการบำบัดฟื้นฟูมินิธัญญารักษ์ ควบคู่กับ ศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด หรือ CI เพื่อแก้ไขปัญหาตามการจำแนกลักษณะของผู้เสพ/ผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีรูปแบบดำเนินการโดยใช้ “แนวทางบวร“ หลักธรรมทางศาสนาในการหล่อหลอมจิตใจและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคม การพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งเป็นกระบวนการเยียวยาทางจิตใจ ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกายและจิตใจไปด้วยกัน โดยร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน รวมทั้ง เครือข่ายในพื้นที่ อาทิ เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน ชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง” นายคเณศวร กล่าวเน้นย้ำ
นายคเณศวร เกษอินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พ่อแม่ และครอบครัวของผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูที่อำเภอ ไม่ต้องกังวลใจถึงขั้นตอนของการดูแลรักษา เพราะเราได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และพี่น้องชาวอำเภอกระนวน เข้ามาผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่สร้างกิจกรรมที่มีประโยชน์ ฝึกระเบียบวินัย ฝึกอาชีพ และทักษะการกลับเข้าสู่สังคมแก่ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยมีสมาชิก อส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ครูเวรคอยดูแลเรื่องวินัย ความปลอดภัยในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน เข้ามาประเมินอาการ ให้คำแนะนำผู้ป่วยทุกวัน
“อำเภอกระนวนมุ่งมั่นในการ Re x-ray นำผู้ติดยาเสพติด มาเข้ารับการบำบัด โดยศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด CI ของอำเภอกระนวน ถือเป็น อีกหนึ่งสถานที่ที่มุ่งเป้าคืนลูกให้พ่อแม่ คืนคนดีสู่สังคม ให้โอกาส ให้ที่ยืน ให้อาชีพแก่ผู้ป่วยยาเสพติดที่กลับตัว กลับเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา ตนจึงอยากประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือพ่อแม่พี่น้องชาวอำเภอกระนวนทุกท่าน ได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลบุคคลรอบข้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือเป็นผู้ป่วยยาเสพติด หากมีเบาะแส และอยากให้เขาได้รับการบำบัดฟื้นฟู โปรดแจ้งทางนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ สายด่วน 1567 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ได้รับทราบ เพื่อจะได้นำบุคคลดังกล่าวทำการรักษาได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งชุมชนจะต้องเข้ามาร่วมกันเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดจนหายดีแล้ว ให้โอกาส ให้อาชีพ และให้ที่ยืนในสังคม เพื่อป้องกันการกลับไปกระทำความผิดซ้ำหวนคืนสู่การเสพยาเสพติดอีกด้วย” นายคเณศวร กล่าวทิ้งท้าย
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #MOI #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1190/2567 วันที่ 16 มิ.ย. 2567