วันนี้ (17 มิ.ย. 67) เวลา 08.30 น. ที่ห้องแซฟไฟร์ 112 อาคารศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ : จิตอาสา นปส. ในหลักสูตร “ผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โครงการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 82 พร้อมบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง Change for Good” โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน นางสาวรัตนา สรภูมิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นเกียรติ โดยเป็นการถ่ายทอดการประชุมและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Cloud Meeting) ร่วมกับผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 100 คน ซึ่งรับฟังบรรยายจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ในการทำให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 “เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และต่อมาได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และพวกเราทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้น้อมนำมาเป็นหลักชัยในการปฏิบัติราชการ ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทั้ง 2 องค์นั้น มีนัยสำคัญในการทำสิ่งดีสอดคล้องกับคำว่า “Change for Good” นั่นคือ “การแก้ไขในสิ่งผิด” อันเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถช่วยกัน ดังที่พระพุทธเจ้าได้มีคำสอนตามหลักอริยสัจ 4 “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” เพื่อการค้นหาสาเหตุแห่งการดับทุกข์ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืนกับประเทศชาติและประชาชน
“ปัญหาโลกร้อนหรือโลกเดือดเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่พวกเราจะต้องช่วยกัน “Change for Good” เพราะในอดีตเราเคยทำในสิ่งที่ผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ โดยต้องเริ่มจากที่ตัวเรา เริ่มจากจุดเล็ก ๆ หลายจุดรวมกันจนกลายเป็นจุดใหญ่ ที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงเป็นที่มาของการเป็น “จิตอาสา” ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแต่เก่าก่อนที่ประเทศไทยเคยมีที่เราต้องนำกลับมา จึงเป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับ “การทำสิ่งที่ดี” เริ่มจากการแก้ไขในสิ่งผิดในการทำงาน ด้วยการที่เราไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อาทิ การน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เพื่อสร้างความมั่นคงทางทหาร ที่พวกเราขับเคลื่อนในฐานะ “ผู้นำต้องทำก่อน” ผ่านการปลูกผักสวนครัวเป็นตัวอย่างที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด บ้านพักนายอำเภอทุกแห่ง เพื่อให้มีพื้นที่ต้นแบบในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพได้ให้กับประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การ “Change for Good” นั้น เราต้องไม่ติดกับดักเพียงเพราะการทำสิ่งใหม่เท่านั้น แต่ “สิ่งเก่าที่ดีก็ต้องนำกลับมา” ทำการ “Re-Engineering” รื้อฟื้นปรับปรุงระบบการทำงานเดิม ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันตามภูมิสังคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ “โคก หนอง นา อารยเกษตร” ที่พระองค์ ทรง “สืบสาน รักษาและต่อยอด” พระราชดำริและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 40 ทฤษฎี มาทำให้เกิดสิ่งที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดความยั่งยืนได้ เราในฐานะข้าราชการต้องทำงานตามหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ลงมือทำเอง ลงพื้นที่เรียนรู้กับพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งเรียนรู้สิ่งที่ดีในอดีตนำมาประยุกต์ใช้ ช่วยกันพัฒนาทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทำงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด” ด้วยการลงพื้นที่ไปพิสูจน์ค้นหาปัญหาด้วยตนเอง พบปะพูดคุยกับชาวบ้านสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาติ : ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง” เพื่อเชื้อเชิญให้เกิดทีมหรือภาคีเครือข่ายไปทำสิ่งที่ดี ตามหลักการทรงงาน 4 กระบวนการ คือ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” อย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืน
“กระทรวงมหาดไทยกระตุ้นผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและทุกภาคส่วน ได้มีเป้าหมายการทำงานที่ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืน ตามประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย พุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 17 Goals) ซึ่งเป็นที่มาของการ Change for Good โดยตระหนักว่าเป้าหมายของเราทุกคน คือ “การทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ซึ่งทั้ง 2 สิ่งต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกัน” โดยมีปัจจัยที่สำคัญที่ต้องเริ่มจาก “คน” ดังที่ ดร.อินาโมริ คาซึโอะ อดีตผู้บริหารบริษัท Kyocera ต้นแบบของผู้นำนักบริหารเคยกล่าวไว้ว่า “คน” คือ สิ่งสำคัญที่สุดขององค์กร เพราะคนที่มี “Passion” แม้ว่ามีความรู้ไม่มาก แต่มีทัศนคติดี (Attitude) มีแรงปรารถนาดี (Passion) ก็จะกระตุ้นผลักดันให้เกิดการทำสิ่งดีหรือการทำงานให้สำเร็จได้ (Success) ดังนั้น นปส. ทุกคนต้องอบรมกล่อมเกลาให้บุคลากรของเราทำสิ่งที่ดีต่อองค์กร ต่อส่วนรวม ทำให้เกิดทีมหรือภาคีเครือข่ายในการทำสิ่งดีร่วมกัน ตั้งแต่ทำให้ผู้ใต้บังคับชามีความคิดที่จะทำให้ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งที่ดีตามที่เราอยากให้ทำ ขยายผลไปสู่การทำให้ทีมเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกย่างก้าวการทำงาน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า การฝึกอบรมหลักสูตร “ผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โครงการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) ในครั้งนี้ เพื่อให้เราทุกคนได้มาร่วมกันทำตาม 4 กระบวนการ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” โดยมีเป้าหมายเพื่อกลับไปทำให้เกิดความยั่งยืน เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่หมู่บ้าน เพราะจุดแตกหักของการพัฒนาอยู่ที่หมู่บ้าน เราต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน : Sustainable Village” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยต้องเริ่ม “ทำทันที (Action now)” จากมือของพวกเรา เพราะ “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” นปส.ทุกคน ต้องไม่รีรอว่าเดี๋ยวค่อยทำ เพราะเวลาไม่เคยรอใคร จึงขอให้พวกเราช่วยกัน “Change for Good” เริ่มเรียนรู้ ฝึกฝนตั้งแต่ในการฝึกอบรมแล้วขยายผลสู่การทำงาน เพื่อก่อให้เกิดผลดีในชีวิตการทำงานทั้งในวันนี้และวันต่อไป ช่วยกันสร้างและรักษาโลกใบเดียวที่สวยงามนี้ เพื่อให้ลูกหลานของเรามีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนสืบไป
#WorldSoilDay #วันดินโลก #soilswherefoodbegins #Soils4Nutrition #FAO #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1200/2567 วันที่ 17 มิ.ย. 2567