วันนี้ (21 มิ.ย. 67) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม ESCAP Hall ชั้น 2 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปาฐกถาพิเศษในพิธีปิดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ “SDGs Localization: Thailand’s Journey Towards Sustainability” โดยมี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ฯพณฯ เดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่อง 15 จังหวัด คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมรับฟัง
นายอนุทิน กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งผลักดันการขับเคลื่อน SDGs ในระดับท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น โดยมีกรอบการทำงานในระยะแรกของโครงการใน 15 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
การดำเนินการภายใต้โครการ มีการจัดทำ 1) ฐานข้อมูล ผ่านการทำ SDGs Profile เพื่อวิเคราะห์ถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของจังหวัด ยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานของจังหวัด วิเคราะห์ความสอดคล้องของประเด็นการขับเคลื่อน SDGs จังหวัดเปรียบเทียบตามเกณฑ์มาตรฐานและตัวชี้วัดสากล (Global Indicator) และการทำ SDGs Survey เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนภายในจังหวัดนำร่องฯ ต่อประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ ภายใต้การขับเคลื่อน SDGs และหาแนวทางแก้ไขให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 2) พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของบุคลากร โดยมีการจัดอบรมเพื่อให้ทั้งผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของกระทรวงมหาดไทยได้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเรื่อง SDGs ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานจากหลายภาคส่วนไปพร้อม ๆ กัน 3) สร้างความตระหนักรู้ด้าน SDGs ภายใต้โครงการฯ ผ่านการสื่อสารด้วยสื่อประชาสัมพันธ์ชนิดต่าง ๆ
นายอนุทิน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความริ่เริ่มการทำงานเรื่อง SDGs ในระดับท้องถิ่นที่มีความสำเร็จ ที่สำคัญ คือ เกิดการสร้างกลไกความร่วมมือ (Partnership) ประสานงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น องค์กรระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคสื่อสารมวลชน มีการสร้างเครือข่ายและเวทีเพื่อหารือในประเด็นของ SDGs ในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญคือการสร้างให้เกิดการพูดคุยเรื่อง SDGs ในระดับนโยบายและปฏิบัติมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นขยายผลไปยังพี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การนำ SDGs ไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ยังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะในส่วนของการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จะบูรณาการหลักการของ SDGs ให้เข้ากับกลไกการดำเนินงานที่ระดับชาติที่ตั้งไว้ และแผนงานในอนาคตเพื่อต่อยอดจากการทำงานต่อไป โดยเฉพาะพัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศ SDGs เพื่อคอยติดตามความคืบหน้าและรายงานผลการทำงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติและสากล
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยยังตระหนักถึงความท้าทายต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกำลังได้ผลกระทบอย่างหนักและถูกวิเคราะห์ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงในอนาคตกระทรวงมหาดไทยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ริเริ่มโครงการจัดการขยะ โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะในชุมชนจนมาสู่การพัฒนารูปแบบจัดตั้งธนาคารขยะ ซึ่ง UNDP ได้เห็นความสำคัญ และมีโครงการความร่วมมือต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาวางมาตรฐานและยกระดับคู่มือการดำเนินงานธนาคารขยะให้มีมาตรฐานระดับสากล ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ คือ “การจัดตั้งธนาคารขยะครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นหนึ่งในความพยายามของเราที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ภายในปี ค.ศ. 2065
ความริเริ่มนี้ทุกชุมชนได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม นำขยะเปลี่ยนเป็นมูลค่าหมุนเวียนกลับไปพัฒนาชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุนสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยี คิดคำนวณคาร์บอนเครดิต ซึ่งในขณะนี้เราได้ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการได้ประกอบธุรกิจหรือผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรามี Goals ที่จะทำให้โลกสะอาดขึ้น คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น คนมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
“ขอเรียนว่ากระทรวงมหาดไทย และคนไทยทุกคนมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นหุ้นส่วนและเป็นเพื่อนร่วมงานกับท่านกับภารกิจที่สำคัญนี้ เพื่อก้าวสู่ประเทศที่เป็นผู้นำ เป็นแบบอย่าง การผลักดันความร่วมมือตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ตลอดจนการพัฒนากระบวนการติดตามผลแผนงาน/โครงการ การบูรณาการแผนงาน ยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในแนวทางที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและคุ้มค่า เพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาติ ในปี พ.ศ. 2573 เพื่อประเทศไทยของพวกเรา เพื่อโลกใบเดียวของพวกเราทุกคน” นายอนุทิน กล่าว
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1245/2567 วันที่ 21 มิ.ย. 2567