เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 67 ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดกาญจนบุรีได้รับเมตตาจาก พระครูสุตกาญจนวงศ์ เจ้าคณะตำบลทุ่งสมอ – ดอนเจดีย์และหนองสาหร่าย พระครูวรธรรมประภาส เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ ร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ในการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ตนเป็นประธาน และ KICK OFF โครงการเส้น “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ปันสุข ที่ยกระดับการสร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ความยั่งยืน โดยมีรองศาสตรจารย์ ดร.แพทย์หญิง เรวิกา ไชยโกมินทร์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกาญจนบุรี นางรัชนี โพธิสัตยา พัฒนาการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยนายทวิช เที่ยวมาพบสุข นายอำเภอพนมทวน นายเดชา ลัดดากุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ หัวหน้าส่วนราชการ ครูและนักเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ ชมรมผู้สูงอายุตำบลทุ่งสมอ ผู้นำชุมชน ภาคีเครือข่าย และประชาชนตำบลทุ่งสมอ ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ณ ตำบลทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนต่อยอด และขยายผลการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จังหวัดกาญจนบุรีได้บูรณาการทุกภาคส่วนในการส่งเสริม สนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้สามารถลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ จากการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรต่าง ๆ ได้ทั้งในระดับครัวเรือน และระดับชุมชน และต่อยอดขยายผลสู่ กิจกรรม “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ปันสุข ปลูกผักสวนครัวไว้บริเวณพื้นที่ว่างข้างถนนในหมู่บ้าน และปรับภูมิทัศน์สองข้างทางให้สวยงาม เพื่อให้เป็นถนนกินได้ โดยให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันดูแลรักษา และร่วมรับผลประโยชน์แบ่งปันผลผลิต เพื่อบริโภคในชุมชน อันเป็นการสร้างความรักความสามัคคี สร้างจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลกของกระทรวงมหาดไทยที่มุ่งมั่นสร้างความตระหนักรู้ในทรัพยกรดินควบคู่กับการให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำ ด้วยแนวคิด “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Soil and Water for Better Life” เพื่อทำให้ทรัพยกรที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถใช้ซ้ำได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) อีกด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในหลาย ๆ ชุมชนประสบปัญหาอย่างหลากหลาย อาทิ การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ปัญหาค่าครองชีพ ภัยแล้ง สารเคมีทางการเกษตร การว่างงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่กลับพบว่าชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยแนวทางสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันที่ตั้งรับได้อย่างมั่นคง และขยายผลสู่การจัดตั้งศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าระดับตำบลในทุกพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ จังหวัดกาญจนบุรียังได้มุ่งเน้นกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับทุกช่วงทุกวัย อาทิ กิจกรรมเสริมทักษะชีวิตใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น ในฝึกทักษะการปลูกผักในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้กับเด็ก และอีกตัวอย่างความสำเร็จที่แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงาน กับการสร้างความมั่นคงอาหารในระดับครัวเรือน ที่นางจรรยา รุ่งเรือง หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้จัดสรรจากพื้นที่ว่างที่มีจำกัดเพียง 15 ตารางวา แต่สามารถปลูกผักแบ่งปันได้มากกว่า 40 ชนิด ซึ่งเป็นหนึ่งในสตรีที่ทำให้บ้านและชุมชนนี้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ตาม Concept ว่า “ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหาร ทุกหมู่บ้าน คือ ศูนย์แบ่งปัน”
ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต่ออีกว่า และอีกกิจกรรมที่สำคัญในวันนี้ คือ การขยายผลการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อยกระดับเป็นชุมชนบริหารจัดการตนเองได้ ที่เริ่มจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย การสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับตำบล ผ่านกลุ่มอาชีพที่เกิดจากการเกื้อกูลของคนในชุมชน โดยยึดหลักธรรม คำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นแนวทางร่วมกันบริหารจัดการตนเอง อาทิ โรงสีชุมชน การปล่อยเลี้ยงปลาในสระสาธารณะที่เป็นแหล่งอาหารให้ชุมชน การจัดทำโต๊ะปันผัก ปันรัก ตามหลัก “บวร” และการต่อยอดสร้างอาชีพจากผลผลิตภายในชุมชนให้เกิดความคุ้มค่า เช่น การรวมกลุ่มแปรรูปผลิตจากกล้วย ของกลุ่มวิสาหกิจสตรีกล้วยน้ำว้าไทย การทำขนมมัดใต้ห่อด้วยใบตอง โดยกลุ่มสตรี ซึ่งเป็นขนมขึ้นชื่อของตำบลทุ่งสมอ ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีนางคล้าย พรมมา ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำขนมมัดใต้ นอกจากนี้ แล้วภายในตำบลยังมีกลุ่มทอขาวม้าลายหมากรุก ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากมีสีสันสดใสสวยงาม รวมถึงผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้าชุมชน ของตำบลทุ่งสมอ
ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทั้ง 7 เครือข่าย (ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน) พัฒนาการจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี ที่มาร่วมทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าประสงค์ไปได้ด้วยดีในวันนี้ และการทำให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่แห่งความสุขนั้น จะต้องทำให้เป็นพื้นที่แห่งความช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย เป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน อันจะทำให้เกิดสังคมที่ผู้คนมีแต่ความรักใคร่ และเป็นสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้สังคม ชุมชนของเรามีแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ รวมทั้งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งนำนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่มุ่งทำให้เกิดการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อพี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1248/2567 วันที่ 21 มิ.ย. 2567