เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 67 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมอัษฎางค์ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงทหาดไทย เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ในหัวข้อวิชา “ผู้ว่าราชการจังหวัดในความคาดหวังของกระทรวงมหาดไทย” ให้กับผู้ร่วมโครงการพัฒนานักบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ หลักสูตรเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด นักปกครองระดับสูง 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม นายประสพโชค อยู่สำราญ นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม รองผู้ว่าราชการจังหวัด รวม 50 คน ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงทหาดไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนานักบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ หลักสูตรเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด นักปกครองระดับสูง 2 เกิดจากการที่ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับ “สถาบันนักปกครอง” ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกท่าน ในการทำหน้าที่ “ผู้นำการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ” ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งกับความมั่นคงของชาติบ้านเมือง รวมถึงสถาบันกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องรู้ทั้งในการทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ และความคาดหวังของประชาชน ตลอดจนมีสติรู้ตัวเองในการประพฤติปฏิบัติตน เพราะเราทุกคนมาจากต่างเหล่าต่างกอ เป็นต้นไม้นานาชนิด ที่มาอยู่รวมกันในป่าของมหาดไทย แม้ว่าเราจะมี 6 กรม 6 รัฐวิสาหกิจ แต่หน้าที่ของพวกเราทุกคนมีมากมาย เปรียบเสมือนต้นไม้หลายชนิดที่มาอยู่ในป่าแห่งนี้ ตนจึงเน้นย้ำกับพวกเราผู้เป็นข้าราชการมหาดไทยอยู่เสมอว่า ทุกคนต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องรู้งานทุกงานของทุกกระทรวง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทำงานทุกที่ แต่เราสามารถศึกษาเรียนรู้งานอย่างเป็นระบบได้ ด้วยการ “สร้างวัฒนธรรมองค์กร” ทั้งที่ส่วนกลางและที่สำนักงานจังหวัด ทุกกลุ่มงานต้องประชุมแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องทำให้เกิดการประชุมพูดคุย ทำให้คนแต่ละกลุ่มงานของสำนักงานจังหวัดได้เรียนรู้งานของคนในกลุ่มซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกันกับเด็กฝึกงานต้องไม่ทำแต่เพียงงานเอกสาร แต่ต้องสอนให้เขาได้รู้จักภาพรวม ทำให้เห็น “Overview” แบบไม่ต้องลึกซึ้ง เพื่อให้รู้จักต้นไม้ในป่า ทำให้เห็นว่างานของกระทรวงมหาดไทยไม่ใช่งานของกรมใดกรมหนึ่ง แต่งานของกรมเป็นส่วนหนึ่งของมหาดไทย เสมือนต้นไม้หลายชนิดที่อยู่รวมกันเป็นป่ามหาดไทย
“การเชื้อเชิญพวกเรามาอบรมหลักสูตรนี้ จึงเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับองค์กร ทำให้เกิดทัศนคติ (Attitude) ที่ดีกับคนมหาดไทย ทำให้ทุกคนได้รู้ว่า “งานทุกกรม งานทุกกระทรวงคืองานของกระทรวงมหาดไทย” หากเราทุกคนมีหัวใจนักปราชญ์ “สุ จิ ปุ ลิ” มีจิตอาสา ไม่นิ่งดูดาย ช่วยสนับสนุนงานของผู้ว่าราชการจังหวัดผู้เป็นผู้นำที่เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัด และทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ปฏิบัติตนเป็นผู้สนับสนุนผู้บริหาร ไม่ใช่เพียงหุ่นยนต์รอรับคำสั่ง ดังนั้น เรื่องใหญ่ที่สำคัญของคนมหาดไทยจึงอยู่ที่ “ใจ” ในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน และแน่นอนว่า หัวใจของท่านนึกถึงทุกข์ยากลำบากของประชาชน และนึกถึงการทำคุณประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญคือการรักษาใจให้แน่วแน่ “กล้าที่จะทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง” ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน และหน้าที่ที่สำคัญของพวกเราอีกหน้าที่หนึ่ง คือ การน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งมั่นเป็น “ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำริ “การทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เพราะชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับลาภ ยศ บรรดาศักดิ์ หรือตำแหน่ง แต่ขึ้นอยู่กับการระลึกได้ว่าเราจะทำความ ดี ด้วยหัวใจ อย่างไร เพราะความดีเหล่านั้นคือรางวัลของชีวิตที่ไม่มีใครจะสร้างให้เราได้ นอกจากการลงมือทำ เราจึงต้องรักษาใจให้ทำดีด้วยหัวใจ และหากเรามีโอกาสได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการทำความดีต่อชาติบ้านเมืองได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อความสุขของพี่น้องประชาชน ใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงทหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า เราทุกคนต้องช่วยกันทั้งการแสดงออกในการปฏิบัติตน การทำความเข้าใจในแนวพระราชดำริ และกรอบทฤษฎีของการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เมื่อเรารู้พระปฐมบรมราชโองการแล้ว พวกเราต้องสืบสาน รักษา และต่อยอด สืบสานและรักษาสิ่งที่ดีต่อจากบรรพบุรุษ เพราะบ้านเมืองไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาและมีสิ่งที่ดีเต็มแผ่นดินที่เคยขนานนามว่า “สุวรรณภูมิ” หรือแผ่นดินทอง เพราะผู้คนมีน้ำใจ มีจิตใจดีงาม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรักความสามัคคี ซึ่งสิ่งที่ดีเหล่านั้นต้องไม่ละทิ้ง โดยน้อมนำพระราชดำริไปต่อยอดการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน รวมไปถึงพระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 อันเป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ซึ่งทั้งสองสิ่งเกื้อกูลกัน ปัจจัยใดทำให้ประเทศชาติมั่นคงก็จะทำให้ประชาชนมีความสุข โดยเราชาวมหาดไทยทุกคนต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ 2 สิ่งเกิดขึ้นได้
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงบอกถึงวิธีการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข คือ “แก้ไขในสิ่งผิด” เพราะประเทศเรามีสิ่งที่ดีมาก่อน เป็นประเทศที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการแก้ไขในสิ่งผิดได้จะต้องรู้จักภูมิสังคม รู้จักบริบท รู้จักงาน มีความเข้าใจในงาน เพื่อหาจุดอ่อน สำหรับปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ นำไปสู่การทำสิ่งที่ดี “Change for Good” ให้เกิดขึ้น ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องรู้รายละเอียดงาน ต้องใส่ใจงาน และต้องศึกษาพระราชปณิธานและนำพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ไทย ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงมีพระราชดำริมากมาย อันล้วนเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ดังเช่นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิธ กว่า 4,741 โครงการ และทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี ดังนั้นหน้าที่หลักของพวกเราจะต้องสืบสาน รักษา และต่อยอด ไม่ให้สิ่งที่ดีเหล่านั้นหายไป และที่สำคัญต้องทำทันที “Action Now” ด้วยการนำหลักการทรงงานให้สำเร็จ 4 กระบวนการ คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ซึ่งประโยชน์สูงสุดของพวกเรา คือ ความสุขใจที่ได้เห็นประชาชนมีความสุข ชาวบ้านมีความรัก ความสามัคคี เกิดสิ่งดีทั้งรูปธรรมและนามธรรม ด้วยการเป็นผู้นำของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต้องทำให้ผู้ตาม ทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ 7 ภาคีเครือข่าย ร่วมเป็นทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อทำสิ่งที่ดีเหล่านั้นให้เกิดขึ้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงทหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า บ้านเมืองของเราจำเป็นต้องมีผู้นำที่เป็นต้นแบบ ตัวอย่างเช่น การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย สร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นผู้กระตุ้นปลุกเร้าให้เกิดการสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส อันจะก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริม ด้วยการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน เพราะการสวมใส่ผ้าไทยของเราจะก่อให้เกิด Demand Side ซึ่งจะกระตุ้นก่อให้เกิด Supply Side คือ ชาวบ้านจะมีการทอผ้า ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวมากขึ้น ทำให้เงินที่เกิดจากการทอผ้าได้หมุนเวียนกระจายสู่ชุมชน เช่นเดียวกับการรณรงค์ให้เกิด “3Rs” (Reuse Reduce Recycle) เราในฐานะผู้นำก็ต้องหิ้วถุงผ้า หิ้วปิ่นโต แสดงถึงผู้นำต้องทำก่อน “การทำสิ่งที่ดีต้องไม่ทำเพียงแค่คนเดียว” แต่ต้องสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้และทำตามด้วย เฉกเช่นการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและทั่วโลกยังคงยึดถือปฏิบัติตราบถึงทุกวันนี้ ดังเช่น การน้อมนำพระราชดำริสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการปลูกผักสวนครัว นอกจากจะทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังส่งผลให้มีร่างกายแข็งแรงจากการออกกำลังกาย จากการรับประทานผักปลอดสารพิษ อีกทั้งยังสร้างความรักความสามัคคีในการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวและชุมชน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ต้องการจะย้ำให้พวกเราทุกคนได้รู้ว่า การสื่อสารที่ดี เราต้องรู้จุดประสงค์ ต้องรอบรู้ และต้องรู้จริง ด้วยการทำความเข้าใจงาน ครองตน ครองคน ครองงาน ตลอดจนถ่ายทอดฝึกฝนช่วยสร้างผู้นำในการทำสิ่งดีงามรุ่นต่อไป
“จิตวิญญาณในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำ และทุกลมหายใจในทุกช่วงเวลาของชีวิตของคนมหาดไทยต้องนึกถึงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน พวกเราเชื่อในการทำความ ดี ด้วยหัวใจ “ระลึกอยู่เสมอว่าเราคนมหาดไทยจะทำหน้าที่แบบเสียสละเวลาส่วนตัวไปทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง” เปรียบเสมือน “เทียนไขละลายตน” ที่สร้างแสงสว่างให้กับคนทั้งโลก เราต้องทำเพื่ออุดมการณ์ เพราะกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับ “คน” เพราะความสำเร็จขององค์กรเกิดจากคนที่มี “Passion” และมีอุดมการณ์ (Attitude) องค์กรที่ดีจึงต้องคัดเลือกคนที่ดี มีหัวใจมีอุดมการณ์ ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม แม้ว่าจะมีความรู้ความสามารถไม่มาก แต่จะทำงานร่วมกันให้สำเร็จเช่นเดียวกับคนที่มีความสามารถสูงได้ การสรรหาบุคลากร (Recruitment) จึงต้องดูคนที่มีจิตใจและมีความคิดที่ดี การเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บริหารต้องส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชามี Attitude ที่ดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพร้อมรับใช้พี่น้องประชาชน ควบคู่กับการทำงานหนักเพื่อส่วนรวม เพื่อให้เข้าใจว่า การทำงานหนักเป็นรางวัลหนึ่งของชีวิต ดังข้อคิดจากเรื่อง “เสียงกู่จากครูใหญ่” ว่าการอุทิศตนด้วยการทำงานหนักเพื่อพัฒนาชุมชน หรือการทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจในการทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว …ทำความ ดี ด้วยหัวใจ … แม้ว่าท่านจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ให้เป็นผู้ว่าราชการจัดหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับการทำความดีต่อชาติบ้านเมือง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน และแม้ว่าการเป็นข้าราชการของเราจะมีเวลามากน้อยไม่เท่ากัน แต่สิ่งสำคัญ คือ การที่เราจะไม่หยุดในการทำความดีด้วยหัวใจของเราตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1298/2567 วันที่ 27 มิ.ย. 2567