เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 67 เวลา 14.09 น. ที่บึงพระอาจารย์ ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเชิญไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยได้รับเมตตาจาก พระราชสิทธิวราจารย์ (อุดม สุทฺธสีโล) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 12 เจ้าอาวาสวัดประสิทธิเวช โดยมี อาจารย์ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายชนาธิป โคกมณี ปลัดจังหวัดนครนายก นางสาวจิรวดี บรรพบุตร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครนายก หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครนายก ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายธูปเทียนแพ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วจุดธูปเทียน บูชา โปรยข้าวตอกดอกไม้ ที่โต๊ะบวงสรวงเพื่อประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ พราหมณ์บัณฑิตอ่านโองการบวงสรวงบูชาเทพยดา เทพารักษ์ ผู้ดูแลรักษาสถานที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อ่านคาถาพลีกรรมตักน้ำ จบแล้ว จากนั้น ในเวลา 14.49 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์บึงพระอาจารย์ใส่ขันสาคร แล้วปิดฝาขันสาคร ห่อด้วยผ้าขาว ผูกริบบิ้นสีขาว แล้วเชิญขันสาครและที่ตักน้ำไปยังรถเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ เคลื่อนไปยังวัดอุดมธานี พระอารามหลวง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เพื่อเตรียมประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ตามฤกษ์ต่อไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พิธีพลีกรรมตักน้ำ เป็นพิธีตักหรือขอแบ่งน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับนำไปประกอบพิธีต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยคำว่า “พลีน้ำ” คือ การขออนุญาตตักน้ำขึ้นมา แบ่งมาในส่วนน้อย เพื่อทำพิธีขอพรให้เป็นสิริมงคล และนำเข้าไปในวัด โบสถ์ สำคัญในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อประกอบพิธีเสกน้ำตามฤกษ์ที่กำหนด ซึ่งสำหรับความเป็นมาของ “บึงพระอาจารย์” ตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งอดีตกาลนานมาแล้ว มีพระอาจารย์ผู้เรืองวิชารูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณปากคลองพระอาจารย์ ด้านฝั่งตะวันตก พระอาจารย์รูปนั้นมีลูกศิษย์รับใช้ใกล้ชิดอยู่คนหนึ่งซึ่งได้ร่ำเรียนคาถาอาคมกับพระอาจารย์ได้ส่วนหนึ่งและมีจิตใจเด็ดเดี่ยว จึงอยากจะขอรับการถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ ให้เก่งกล้าขึ้น โดยเฉพาะวิชาแปลงกาย
“วันหนึ่งพระอาจารย์จึงได้เรียกลูกศิษย์มาหาและกล่าวว่า ตนจะสอนวิชาแปลงกายให้ แต่ก่อนอื่น พระอาจารย์จะแปลงกายเป็นจระเข้ให้ดูก่อน โดยพระอาจารย์ได้ทำน้ำมนต์ไว้บาตรหนึ่ง พร้อมสั่งลูกศิษย์ว่า เมื่อเห็นพระอาจารย์แปลงร่างเป็นจระเข้แล้วให้รีบใช้น้ำมนต์ในบาตรรดไปให้โดนตัวจระเข้ จระเข้ก็จะกลับกลายมาเป็นพระอาจารย์ตามเดิม และเมื่อสั่งเสร็จแล้ว พระอาจารย์ก็ร่ายมนต์คาถาแล้วโดดลงไปในน้ำหน้าวัด ทันใดนั้นร่างกายของพระอาจารย์ก็กลับกลายเป็นจระเข้ใหญ่ทันที แต่เนื่องจากจระเข้ตัวใหญ่มาก ส่งผลให้เมื่อลูกศิษย์เห็นจระเข้ใหญ่ก็ตกใจ มือที่ถือบาตรน้ำมนต์อยู่ก็สั่น และทำบาตรน้ำมนต์หลุดมือหกลงพื้นหมด ไม่สามารถที่จะรดไปยังร่างจระเข้ได้ ทำให้พระอาจารย์ในร่างของจระเข้ไม่สามารถกลายร่างมาเป็นพระอาจารย์ได้ตามเดิม จระเข้พระอาจารย์จึงต้องรับกรรมและวนเวียนอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตราบนานแสนนาน หลังจากนั้น น้ำบริเวณดังกล่าวก็กลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มาจนทุกวันนี้” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า น้ำในบึงพระอาจารย์นี้ ทางราชการถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อครั้งประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ทางราชการได้นำน้ำในบึงพระอาจารย์ไปทำพิธีสรงมูรธาภิเษกด้วย นอกจากนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังได้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พุทธศักราช 2530 พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พุทธศักราช 2542 พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พุทธศักราช 2550 และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ พุทธศักราช 2554
“ในวันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เป็นผู้นำข้าราชการและพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเชิญขันสาครและที่ตักน้ำไปยังสถานที่สำหรับประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ที่จังหวัดกำหนด ในวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2567 และวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567 อย่างสมพระเกียรติ ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1345/2567 วันที่ 4 ก.ค. 2567