เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 67 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมพระพุทธบาท ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสระบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยนายประสพโชค อยู่สำราญ นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหารกรมในสังกัด โดยมี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นางจิตตินันท์ เชาวรินทร์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสระบุรี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 13 อำเภอ และผู้อำนวยการกลุ่มงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมนิทรรศการ “ภาพเก่าเล่าเรื่อง” ซึ่งเป็นนิทรรศการประมวลพระราชกรณียกิจการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และเยี่ยมชมจุดติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ตามโครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ตนได้มาเยี่ยมเยียนถิ่นจังหวัดสระบุรีอีกครั้ง ซึ่งตนมีความรัก ความผูกพันกับพี่น้องชาวสระบุรี นับตั้งแต่มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี คนที่ 47 ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสระบุรี ที่ได้เชิญมาร่วมลงพื้นที่และเป็นประธานงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพรรษาพระราชทานจังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2567 ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่เรียกว่าเป็น “Soft Power” ที่เป็นแห่งเดียวในโลก ที่ควรค่าในการสื่อสารสังคม ครั้งก่อนการจัดงาน ระหว่างการจัดงาน และภายหลังการจัดงาน ดังนั้น จึงขอให้จังหวัดสระบุรี ได้ระดมความคิดและการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนตลอดจนภาคีเครือข่าย จัดงานให้ดีและยิ่งใหญ่ เพื่อ “Change for Good” ผลักดันขับเคลื่อนชูเอาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของจังหวัด ทั้งที่วัดพระพุทธบาท วัดพระพุทธฉาย หรือวัดอื่น ๆ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตัวอย่างเช่นทุกคนช่วยกันประดับตกแต่งธงธรรมจักรตลอดเส้นทาง หรือการประดับไม้ดอกไม้ประดับ ตลอดจนเชิญชวนให้เด็กเยาวชนของสถาบันการศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเป็น “นักประวัติศาสตร์รุ่นจิ๋ว” ผ่านการประกวดเล่าเรื่อง วาดภาพ เพื่อให้งานไม่ย่ำอยู่กับที่ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ริเริ่ม หาแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ดังที่พวกเราทุกคนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นต้นแบบของการพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ โดยไม่ทิ้งรากเหง้าเดิม ทรง “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องภูมิปัญญาผ้าไทย โดยพระราชทานพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยทรงจุดปัญญาให้วงจรการผลิตผ้าไทยมีความคิดริเริ่ม ปรับปรุงและพัฒนาลายผ้าไทยให้มีความทันสมัย สวยงาม สวมใส่ในทุกโอกาส เป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล และด้วยพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้ผ้าไทยฟื้นคืนกลับมา สร้างรายได้จากผ้าไทยให้กับคนไทย จากเดิม 400 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทต่อปี จึงนับว่าเป็นยุคทองของผ้าไทยอีกครั้ง ซึ่งรายได้เหล่านั้นหมุนเวียนในประเทศไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวม เป็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งภารกิจนี้เป็นชีวิตและหน้าที่ของคนมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในการขับเคลื่อนงานของพวกเราชาวมหาดไทย “คนมีความสำคัญที่สุดต่อองค์กร” เพราะหากองค์กรมีบุคลากรที่มีทัศนคติ (Attitude) และมีอุดมการณ์ (Passion) ที่ดี สำคัญกว่าคนที่มีความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) เพราะคนที่มีทัศนคติที่ดี แม้จะมีความรู้ความสามารถไม่มาก แต่จะมีหัวใจทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ผลักดันขับเคลื่อนไปสู่การทำสิ่งที่ดี หรือเรียกว่า “มีใจ” หากคนมีใจเป็นนาย มีกายเป็นบ่าว การขับเคลื่อนงานทุกเรื่องก็จะประสบความสำเร็จ เพราะใจอยากทำดี กายก็จะใช้ความรู้ความสามารถทำให้เกิดสิ่งที่ดีตามที่ใจปรารถนา เช่นเดียวกันกับที่จังหวัดสระบุรีที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ขับเคลื่อนงานให้สำเร็จได้โดยร่วมกับทีม 7 ภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะ “ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่มีความเข้มแข็ง” ตลอดจนภาคสื่อมวลชน ที่ทุกคนก็เป็นสื่อมวลชนอยู่แล้ว เพราะเรามีเครื่องมือสื่อสาร มีสื่อสังคมออนไลน์ เป็นนักข่าวจิตอาสา นำเรื่องงานไปสื่อสารสังคมเพื่อสร้างการรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงมหาดไทยที่ได้รับการสถาปนามาแล้ว 132 ปี เข้าสู่ปีที่ 133 ภารกิจหลัก คือ การดูแลชาติ และเราเชื่อมั่นว่าความมั่นคงของชาติจะเกิดขึ้นได้ เราต้องช่วยกัน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้พี่น้องประชาชนให้สำเร็จได้ ตามพันธกิจที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานให้พวกเราชาวมหาดไทย อีกทั้งทรงเลือก “สีดำ” เป็นสีประจำกระทรวง ซึ่งเป็นสีแห่งความรักที่เป็นอมตะ เป็นรักที่มีให้กับเพื่อนมนุษยชาติ ดังพระศอของพระศิวะที่กลืนน้ำอมฤตจนเป็นสีดำเพื่อปกป้องโลกตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
“คนมหาดไทยไม่สามารถทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เพราะพี่น้องประชาชนมีความคาดหวังในตัวของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะประเทศไทยเรามีความเชื่อว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และคนมหาดไทย คือ “หนุมานอาสา” เมื่อมีความทุกข์ร้อนใด ๆ ก็หวังให้ชาวมหาดไทยช่วยเหลือ เราจึงต้องรับทุกเรื่องเอาไว้ ดังที่คนขนานนามตำแหน่งผู้ว่าฯ ว่า “พ่อเมือง” ดังนั้น คนมหาดไทยจึงได้รับการกำหนดในตัวบทกฎหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าของข้าราชการทั้งจังหวัด มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าของข้าราชการทั้งอำเภอ ส่วนในทางสังคม ก็ถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำ แต่ผู้นำคนเดียวไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ เราต้องมี “ทีม” ต้องทำร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายดังเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ข้อที่ 17 “หุ้นส่วน (Partnership) การพัฒนา” เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ 169 ตัวชี้วัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการสำคัญภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่าน “ทีมจังหวัด/อำเภอ/ตำบล บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบำบัดทุกข์บำรุงสุข มีนัยรวมไปถึงการทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทุกพื้นที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพอนามัย ความมั่นคงทางอาหาร เครื่องนุ่งห่ม การสร้างความรักสามัคคีมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตอาสาเสียสละเพื่อส่วนรวม ตลอดจนความสงบเรียบร้อย ล้วนแต่เป็นหน้าที่ของชาวมหาดไทยทุกคน ที่ต้อง “บูรณาการคน” และ “บูรณาการงาน” ทุกงานอย่างยั่งยืน ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วย 4 กระบวนการ คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยมีคนมหาดไทย “เป็นผู้นำทำก่อน” พร้อมทั้งสร้างทีมให้เกิดกระบวนการข้างต้นเพื่อทำให้เกิดความสนิทสนม ดัง “วิสฺสาสปรมา ญาติ : ความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง” เพื่อเอาประเด็นปัญหามาถก มาแลกเปลี่ยน พูดคุย นำไปสู่การหาแนวทางปรับปรุงและแก้ไข โดยในขณะนี้ภารกิจที่พวกเราทุกคนได้ร่วมขับเคลื่อนมีหลายประการ อาทิ 1) การดูแลส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ด้วยการให้ความรู้กับคู่สมรส และเมื่อเด็กคลอดออกมา ต้องได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะการรับประทานไข่อย่างน้อยวันละ 2 ฟอง จะทำให้มีโปรตีนที่สมบูรณ์ ควบคู่การอบรมบ่มเพาะสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต โดยฝึกสอนให้เด็กได้รู้จักความรักความสามัคคี มีความกตัญูกตเวที รู้จักสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน เพื่อฝึกฝนกล่อมเกลาจิตใจ ซึ่งเราต้องทำทันที “Action Now” ร่วมกับภาคีเครือข่าย 2) การบูรณาการฐานข้อมูลตามนโยบาย One Data for One Plan ด้วยการใช้ฐานข้อมูลจากแพลตฟอร์ม ThaiQM เป็นฐานข้อมูลในการดูแลชีวิตของพี่น้องประชาชนในทุกเรื่อง เป็น Big Data ที่สามารถใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีข้อมูลการบริหารพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างระบบการรวมกลุ่ม โดยมีปลัดอำเภอประจำตำบลร่วมกับทีมข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบลร่วมกับพระผู้รับผิดชอบประจำตำบลตาม MOU การเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน MOU วัด ประชา รัฐ สร้างสุข และ MOU หมู่บ้านรักษาศีล 5 “หมู่บ้านศีลธรรม” ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญหรือจุดแตกหักที่สำคัญอยู่ที่หมู่บ้าน เราต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ดังนั้นนายอำเภอต้องช่วยกัน ทำให้เกิดทีมจิตอาสา ทำให้ระบบคุ้มบ้านมีความเข้มแข็ง และมีการบริหารจัดการดูแลความเป็นอยู่อย่างเป็นระบบ มีหัวหน้าคุ้มบ้าน มีกรรมการคุ้มบ้าน ที่เปรียบเสมือน “ครม.ประจำหมู่บ้าน” ดำเนินการตามหลักการทรงงานทั้ง 4 กระบวนการ อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า เหนือสิ่งอื่นใด การที่จะทำให้หมู่บ้านยั่งยืนเกิดขึ้นได้นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดต้องช่วยกันกระตุ้นปลุกเร้าทำให้ทีมงานทุกระดับมีความเข้มแข็ง ต้องผนึกกำลังผู้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศรวมตัวกันเป็น “ทีม IT ของจังหวัด” และบูรณาการทุกภาคีเครือข่ายในทุกระดับ ช่วยกันสำรวจ Re X-ray เพื่อพัฒนาระบบการทำงานของจังหวัด เชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานในจังหวัด ให้เป็น One Data for One Plan เช่น การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การดูแลเด็กและเยาวชน การดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น ซึ่งคนมหาดไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่สังกัดกรมหรือรัฐวิสาหกิจใด เราต้องมีอุดมการณ์ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เป็น “หนุมานอาสา” ขับเคลื่อนงานในทุกเรื่อง ทุกกระทรวง เพื่อประโยชน์ของประชาชน มุ่งมั่นทำงานตามหลัก “RER” ได้แก่ 1) งานประจำ (Routine) ต้องไม่บกพร่อง 2) งานเพิ่มศักยภาพของจังหวัดหรือพื้นที่ (Extra Job) ต้องดี และที่สำคัญ 3) ต้องมีการสื่อสารสังคม (Report) ให้คนได้รับรู้ในเรื่องงานและประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อส่วนรวม เพื่อทุกคนจะได้ร่วมรับประโยชน์ ซึ่งประโยชน์ของคนมหาดไทยทุกคนนั่นคือ “ความสุขที่ได้ใช้ชีวิตในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน” ในทุกเวลานาที ในทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี พร้อมทั้งช่วยกันธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ อันประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอให้พวกเราทุกคนได้มุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติอย่างเต็มกำลัง เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” พร้อมทั้งร่วมกันสวมใส่และรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลืองตลอดทั้งปี ร่วมกันปฏิบัติบูชาถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพร้อมเพียงกัน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1420/2567 วันที่ 19 ก.ค. 67