วันนี้ (26 ก.ค. 67) เวลา 12.00 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษถวายความรู้พระนวกะที่จำวัด ณ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ตามโครงการบรรพชาอุปสมบท เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี พระพิเชฐ วรปญฺโญ (ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล) รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกรมและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟัง โดยเป็นการถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ และ DOPA Channel ซึ่งมี พระมหาบุญลือ วิชฺชากโร ป.ธ.9 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ และพระนวกะที่บรรพชาอุปสมบท เฉลิมพระเกียรติฯ ของจังหวัดนครปฐมและทั่วประเทศ รวมจำนวน 6,686 รูป ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขออนุโมทนาบุญกับพระนวกะทุกรูปที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจและสมัครใจเข้าร่วมการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ตามที่ทุกจังหวัดได้เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกสาขาอาชีพ ได้ร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีและจิตศรัทธาอันแรงกล้าในการบรรพชาอุปสมบทน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งการบรรพชาอุปสมบทตามความเชื่อทางศาสนาพุทธนั้นจะก่อให้เกิดบุญกุศลอย่างยิ่งยวดต่อตนเองและครอบครัว ดังนั้น การบรรพชาอุปสมบทของพระนวกะทั้ง 6,686 รูปทั่วราชอาณาจักรไทยในครั้งนี้ จะเป็นพลวปัจจัยถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นฉัตรแก้วปกเกล้าปกกระหม่อมพสกนิกรชาวไทยทุกคนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
“การที่ “พระนวกะทุกรูป” ได้มีความจงรักภักดีอันแรงกล้า เสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในส่วนตัวและส่วนรวมในฐานะฆราวาส เข้ามาอยู่ในร่มโพธิ์ของบวรพระพุทธศาสนาถือว่า นอกจากจะเป็นการได้บรรพชาอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแล้ว ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดกับตัวพวกเราเอง เพราะการอุปสมบทจะทำให้เราได้มีโอกาสร่วมกันทำสิ่งที่ดีตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยการเรียนรู้จากพระอาจารย์หรือพระพี่เลี้ยงที่คอยดูแล อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากการรับฟังการถวายควาทรู้จากบุคคลต่าง ๆ ที่ทางจังหวัดได้เรียนเชิญมาบรรยายถวายความรู้เช่นเดียวกับของจังหวัดนครปฐม เรียกได้ว่า การบวชคือการปฏิบัติบูชาสำคัญยิ่งตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันเป็นการบูชายิ่งกว่าอามิสบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เสียสละความสุขส่วนตัวมาเข้าสู่ “ร่มผ้ากาสาวพัสตร์” และเป็นพระพุทธบุตรเพื่อปฏิบัติบูชา ทำให้ได้รับประโยชน์หลายประการ ประการแรก คือ การมีโอกาสได้รักษาศีล 227 ข้อตามพระธรรมวินัย ด้วยฝึกปฏิบัติตนระยะเวลากว่า 21 วัน และถือเป็นโอกาสมงคลยิ่งที่ได้บรรพชาอุปสมบทถวายพระราชกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ประการที่ 2 คือการที่ได้ฝึกจิต ควบคุมศีลและสมาธิ ให้มีความร่มเย็นไม่ตกอยู่ในความประมาท ซึ่งหลังจากได้ลาสิกขาบทไปแล้วจะมีโอกาสในการใช้ชีวิตด้วยความดีและไม่ผิดพลาด ประการที่ 3 คือ มีโอกาสได้รับความรู้และประโยชน์จากหลักธรรมคำสั่งสอนตามพระพุทธศาสนาจากพระสงฆ์ผู้ดูแล ที่จะได้ถ่ายทอดนำหลักคำสอนจาก “นวโกวาท” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตกับพวกเราอย่างมาก ประการที่ 4 จะเป็นโอกาสร่วมกันสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การบรรพชาอุปสมบทจะช่วยให้ครอบครัวของท่านมีความสุขที่ได้เห็นพวกเราได้บวชเป็นพระนวกะ นอกจากนี้ยังเป็นการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่พระองค์เคยเสด็จออกผนวชเพื่อทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพวกเราพสกนิกรชาวไทยและผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพราะการที่พระนวกะได้มาบวชและได้รับการถวายความรู้จากพระผู้ดูแลตลอดจนฆราวาสจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้ชีวิตของเรานั้นมีสิ่งที่ดีงามเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ทำให้ตัวเรามีความสุขและส่งผลต่อคนในครอบครัวให้มีความสุข นอกจากนี้ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส และได้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้น ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลราชสมบัติบรมราชาถิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแด่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด” สะท้อนให้เห็นถึงการที่พระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก และยังเป็นอัครศาสนูปถัมพกของศาสนาอื่นๆ ด้วย ดังนั้นพระนวกะทั้ง 6,686 รูป ได้เจริญรอยตามพระองค์ จะเป็นโอกาสสำคัญในการทำความดีถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน จึงขอให้พระอาจารย์และพระผู้ดูแลได้โปรดเมตตาช่วยทำให้ผู้ที่มีความรู้ได้ดูแลถวายความรู้แด่พระนวกะ ซึ่งจะเป็นบุญเป็นกุศลของชีวิตพระนวกะทุกรูป รวมถึงผู้ถวายความรู้ ตลอดจนเป็นพระราชกุศล และยังเป็นการศึกษาเรียนรู้หลักปฏิบัติในการประกอบศาสนพิธี และบทสวดที่ใช้ประกอบพิธีในขั้นพื้นฐาน และยังเป็นการได้มีโอกาสสร้างเครือข่าย เพื่อเพิ่มพูนโอกาสในการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับประเทศชาติ ให้กับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และชุมชน ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลัก “บวร” บ้าน วัด ราชการ หรือภาคีเครือข่าย จากการได้ทำความรู้จัก ได้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน โดยมีหลักสำคัญ คือ หัวใจนักปราชญ์ “สุ จิ ปุ ลิ” ทำให้เกิดความรู้จักมักคุ้นกับพระนวกะด้วยกัน มีการรวมกลุ่มพบปะ “ร่วมพูดคุย” นำเอาสิ่งที่มีประโยชน์กับชีวิตแล้ว “ร่วมกันคิด” ทำความดีให้กับวัดและศาสนสถาน เพื่อ “ร่วมกันทำ” สิ่งที่ดีให้กับส่วนรวม และ “ร่วมรับประโยชน์” จากที่ทุกท่านได้เห็นความสุขจากครอบครัว จากญาติโยม โดยต้องริเริ่มสร้างสรรค์ไปสู่การทำสิ่งที่ดี อาทิ ตั้ง Line กลุ่ม เพื่อใช้ในการประสานงาน หรือการทำเป็นหนังสือรุ่นของพระสงฆ์รุ่นเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อเป็นโอกาสในการรวมกลุ่มกันทำความดีให้กับสังคมได้ต่อไปในอนาคต
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า พระนวกะทุกรูป ตลอดจนถึงพวกเราทุกคนผู้เป็นพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องร่วมแรงร่วมใจกันในการแก้ไขสิ่งผิด ที่ปรากฏและส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ทั้งในแง่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมไทย การปฏิบัติตนในฐานะศาสนิก หรือการเป็นสมาชิกของชุมชน ที่ในแต่ก่อนนั้น สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความอบอุ่น เป็นสังคมแห่งความรักใคร่ มีน้ำใจไมตรี มีโอภาปราศรัย มีการแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูล เจือจุนค้ำชูดูแลกันและกัน แต่ในปัจจุบัน หลายครอบครัวมีการปล่อยปละละเลยให้ลูกหลานเยาวชนห่างไกลจากพระพุทธศาสนา ขาดการอบรมกล่อมเกลาลูกหลานให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดี จึงขอใช้โอกาสนี้ในการบอกกล่าวถวายความรู้และข้อมูลให้กับพระนวกะรวมถึงญาติโยมทุกท่านได้ฉุกคิด และหันมาร่วมกันปฏิบัติบูชา ทำสิ่งที่ดีร่วมกัน เริ่มจากที่ตัวเรา ผ่านไปสู่หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ด้วยการทำให้หมู่บ้านของเราเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ดังที่กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ได้เชิญชวนภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน มาร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน โดยน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มุ่งทำเกิดกระบวนการรวมกลุ่มเป็นกลุ่ม ได้ทำตามหลักการทรงงาน 4 กระบวนสู่ความยั่งยืน คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ เพื่อร่วมกันสนองพระราชปณิธาน คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” นอกจากนี้ ได้ช่วยกันเผยแพร่หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ฉบับธรรมนาวา “วัง” ที่พระองค์ท่านพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์แก่พสกนิกรไทยในฐานะทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก โดยทรงให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติแห่งการดับทุกข์ หรือ อริยสัจ 4 “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” อันเป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ เพื่อนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน และขอให้การที่ทุกท่านมีความมุ่งมั่นตั้งใจอยู่ในสมณเพศตลอด 21 วันนี้ ทำให้เกิดพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และขอให้พวกเราทุกคนไม่ละทิ้งอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นทำให้เกิด “ความสุขอย่างยั่งยืน” กับทุกคน ด้วยการทำให้ประเทศชาติมั่นคงผ่านกลไกการจัดการกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน หย่อมบ้าน ตามแนวทางหมู่บ้านยั่งยืน และร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความดีงาม ด้วยการเป็นคนดีของประเทศไทยและของโลกใบเดียวนี้ และประการที่สำคัญที่สุดคือ เป็นพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งมั่นตั้งใจทำความ ดี ด้วยหัวใจ เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ และความผาสุขของสังคมไทยอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1459/2567 วันที่ 26 ก.ค. 2567