วันนี้ (4 ส.ค. 2567) นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า จังหวัดหนองบัวลำภู ได้รับเกียรติจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโค เข้าร่วมงานเทศกาลไทย ณ มอสโก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2567 ณ สวน Hermitage Garden, Moscow โดยจังหวัดหนองบัวลำภู ได้นำศิลปวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู แฟชั่นโชว์ผ้าทอพื้นเมืองหนองบัวลำภู ผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้า OTOP จังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมจัดแสดงและจำหน่าย รวมทั้งนำกิจกรรม Work shop อาทิ การจ้ำคำผ้าเช็ดหน้ามัดย้อมคราม การทำเครื่องประดับจากเศษผ้า เพื่อประชาสัมพันธ์ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดหนองบัวลำภูสู่สายตาชาวรัสเซีย
นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จังหวัดหนองบัวลำภู ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดโดยคำนึงถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัด “เกษตรเพิ่มมูลค่า เมืองผ้า น่าอยู่ น่าเที่ยว” และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เป็นสำคัญ โดยมี โครงการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและ สถาบันทางการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นจากความโดดเด่นเรื่องการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง คือการทอไหม และผ้าฝ้าย ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและเป็นเอกลักษณ์ คือ “ผ้าขิดสลับหมี่” ของจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้น เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับคนหนองบัวลำภูแทบทุกชุมชน โดยมีเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็น “เมืองแฟชั่นผ้าทอพื้นเมือง” ในลักษณะของวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ (Soft power) และส่งเสริมช่องทางการตลาดสำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นำผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดหนองบัวลำภูมุ่งสู่สากล เพื่อสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการทอผ้า ผู้ประกอบการ OTOP ให้มีความเข้มแข็งขึ้น
นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวต่ออีกว่า ก่อนที่จังหวัดหนองบัวลำภู จะนำผ้าทอจังหวัดหนองบัวลำภูสู่สายตาชาวรัสเซียนั้น เอกอัครราชทูตรรัสเซียและคณะ ได้เดินทางมาที่จังหวัดหนองบัวลำภู และได้เยี่ยมชมวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู 3 แห่ง คือ วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ขวัญตา) วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (เทวาผ้าไทย) วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ฝ้ายกะตุ่ยโป่งแค) โดยได้มีข้อซักถามพูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นจังหวัดหนองบัวลำภูมีการทอผ้าอย่างไร มีวิวัฒนาการอย่างไรจนสามารถทอผ้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นที่นิยมในระดับสากลได้ ซึ่งจังหวัดหนองบัวลำภูนั้น มีผู้ที่มีฝีมือด้านการทอผ้าอยู่เป็นจำนวนมาก และผ้าทอหนองบัวลำภูยังมีลวดลายสวยงามมีอัตลักษณ์ การทอการออกแบบการตัดเย็บมีการพัฒนาฝีมือ รวมทั้ง ปรับปรุงลวดลายผ้าให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่ต้องการของผู้นิยมสวมใส่ผ้าไทย
นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวในตอนท้ายว่า บัดนี้สิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้อุทิศพระองค์มุ่งมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ ได้สำเร็จเป็นมรรคผลแล้วในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ได้นำผ้าไทยอันวิจิตร งดงามไปสู่สายตาชาวโลก ด้วยมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค อันเป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย ที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค และเป็นการกระตุ้นการสวมใส่ผ้าไทย ที่สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาผ้าไทย ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชน อย่างเป็นระบบและยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนทำให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยั่งยืนสืบไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1514/2567 วันที่ 4 ส.ค. 2567