วันนี้ (7 ส.ค. 67) นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้เป็นหน่วยงานที่ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2566 องค์การบริหารส่วนตำบล ประเภทโดดเด่น รางวัลที่ 1 ได้จัดกิจกรรมให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียง (Sufficiency Groundwater Bank ) จากองค์การบริหารส่วนตำบลโคกยาง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ นำโดยนางพลอยสิชา ชมบุญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกยาง พร้อมกับสมาชิกสภา เจ้าหน้าที่ พนักงาน ตัวแทนเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำท้องที่ รวม 90 คน มีนายชาตรี๊ ศรีวิชาฐา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม และนายพีรพล ภาชะรัตน์ เป็นวิทยากร
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนช่วยในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งหลาย ๆ แห่งมีต้นแบบที่สามารถขยายผลต่อยอดไปยังพื้นที่อื่นได้ รวมถึงสามารถยกระดับโครงการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องการบริหารจัดการขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การจัดทำธนาคารขยะ นอกจากนี้ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ องค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ได้นำระบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง มาประยุกต์ใช้จนเป็นต้นแบบให้หลายพื้นที่ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
“จากเดิมตำบลเก่าขาม เป็นพื้นที่แห้งแล้ง และอยู่นอกเขตการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน โดยนายชาตรี๊ ศรีวิชาฐา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม ได้วางแผนและคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ ด้วยการนำธนาคารน้ำใต้ดิน มาใช้ทำให้พื้นที่กลับมามีความชุ่มชื้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เพราะการเติมน้ำลงเก็บไว้ใต้ดิน ก็เปรียบเสมือนการฝากเงินไว้กับธนาคาร หากมีฝนตกน้ำท่วม ระบบนี้ก็จะเติมน้ำลงใต้ดิน และหากถึงฤดูแล้งก็สามารถดูดน้ำขึ้นมาใช้ได้ อบต.เก่าขาม จึงตั้งชื่อโครงการว่า ธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียง” นายศุภศิษย์ กล่าว
นายศุภศิษย์ กล่าวอีกว่า โครงการธนาคารน้ำใต้ดินของ อบต.เก่าขาม ได้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2558 เพราะในพื้นที่มีปัญหาแห้งแล้งและน้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ จึงมีการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ทำให้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ได้ 100% ซึ่งเมื่อแก้ปัญหาได้แล้วก็มีการต่อยอด ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ดูดน้ำขึ้นมาใส่ถัง 1 หมื่นลิตร เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อุปโภค บริโภค แทนประปาหมู่บ้าน
“กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีการส่งเสริมและมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบการจัดการน้ำ (โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน) ขึ้น ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและปัญหาน้ำท่วมขัง อย่างน้อยจังหวัดละ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “น้ำ คือ ชีวิต” มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินมาก่อนแล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยขุดบ่อให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ แล้วดำเนินการจัดทำภายในบ่อตามรูปแบบที่กำหนด เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะไหลลงสู่ชั้นใต้ดินโดยตรง ผ่านธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดที่ได้จัดทำขึ้นมา และธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด เป็นการเปิดผิวดินเพื่อที่จะสามารถใช้น้ำในระดับผิวดินได้เลย โดยจะมีการขุดบ่อขนาดใหญ่ ส่วนขนาดเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ และความต้องการ โดยการเจาะพื้นบ่อเป็นหลุม 3 หลุมให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้น้ำไหลลงชั้นหินอุ้มน้ำได้ดี ซึ่งน้ำที่นำมาเก็บนั้นมาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น น้ำฝน หรือน้ำจากการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ซึ่งเมื่อน้ำถูกเติมลงชั้นใต้หินอุ้มน้ำปริมาณมากพอ น้ำจะเอ่อล้นมาที่บ่อโดยอัตโนมัติ ซึ่งเกษตรกรสามารถสูบน้ำจากบ่อนี้มาใช้ได้ทันที วิธีนี้จะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องขุดเจาะหาแหล่งน้ำ หรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำไกล ๆ เป็นการประหยัดพลังงาน และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ซึ่งหากทำธนาคารน้ำใต้ดินทั้ง 2 ประเภทควบคู่ไปด้วยกัน จะทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะทั้ง 2 ประเภทจะเกื้อหนุนกัน” นายศุภศิษย์ กล่าวเน้นย้ำ
นายศุภศิษย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่มุ่งมั่นทำให้ทุกพื้นที่ “ไม่ท่วมไม่แล้ง” การทำธนาคารน้ำใต้ดินที่มีการนำน้ำใต้ดินมาใช้ในฤดูแล้ง จะช่วยให้มีการกักเก็บน้ำใต้ดินให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน การทำธนาคารน้ำใต้ดินมีข้อดี คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง แก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้ง การเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน การเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน ทำให้ต้นไม้โดยรอบเติบโตงอกงาม ลดปริมาณน้ำเสีย ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ธนาคารน้ำใต้ดิน จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ช่วยให้ประชากรในสังคมปรับตัวให้อยู่รอดจากภัยแล้งได้ และยังช่วยลดการพึ่งพาการสูบน้ำบาดาลที่ไม่ยั่งยืน และจะให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดนำร่องที่ดำเนินการโครงการธนาคารน้ำใต้ดินเป็นโมเดลนำร่องให้กับจังหวัดอื่น ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป
กองสารนิเทศ สป.
ครั้งที่ 1542/2567 วันที่ 7 ส.ค. 67