เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน จังหวัด และอำเภอ เชิญชวนช่างทอผ้าทุกประเภทส่งผลงานประเภทผ้าและงานหัตถกรรมเข้าประกวดภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้ามีผลงานไม่น้อยกว่า 7,200 ผืน ซึ่งพบว่าพี่น้องประชาชนต่างให้ความสนใจและมีผู้ประกอบการถักทอผ้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเห็นถึงความสำคัญของงานหัตถกรรม ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชน ซึ่งทั้งหมดมาจากพระกรุณาคุณที่พระองค์ท่านพระราชทานให้พวกเราชาวมหาดไทย
“ในขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยได้รับรายงานจำนวนผู้สมัครส่งผลงานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 8,520 ชิ้น จำแนกเป็น ผลงานประเภทผ้า 8,026 ผืน และประเภทหัตถกรรม 494 ชิ้น โดยภาคที่มีผู้ส่งผลงานมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเภทผ้า 4,664 ผืน หัตถกรรม 101 ชิ้น ตามด้วยภาคเหนือ ประเภทผ้า 1,363 ผืน หัตถกรรม 195 ชิ้น ภาคใต้ ประเภทผ้า 1,327 ผืน หัตถกรรม 74 ชิ้น และภาคกลาง ประเภทผ้า 672 ผืน หัตถกรรม 124 ชิ้น จังหวัดที่ส่งผลงานผ้ามากที่สุด 10 ลำดับ ได้แก่ สกลนคร 562 ผืน นครพนม 430 ผืน ร้อยเอ็ด 425 ผืน ขอนแก่น 421 ผืน สุรินทร์ 383 ผืน นครศรีธรรมราช 349 ผืน กาฬสินธุ์ 316 ผืน อุดรธานี 300 ผืน ลำพูน 292 ผืน และมุกดาหาร 236 ผืน โดยประเภทผลงานที่ส่งเข้าประกวดมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ 1) ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ 3,566 ผืน 2) ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม ผ้าเขียนเทียน 1,640 ผืน และ 3) ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป 1,025 ผืน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว นับว่าเป็นการส่งผลงานผ้าและงานหัตถกรรมเข้าประกวดมากเป็นประวัติการณ์ และเกินเป้าหมายที่ทางคณะกรรมการฯ กำหนดไว้ 1,320 ผืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เป็นผ้าลายพระราชทานที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำมาออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีจำนวน 4 ลาย ได้แก่ 1) ลายวชิรภักดิ์ ที่ได้รับแรงบันดาลพระทัยจากอักษร “ว” ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า พสกนิกรคนไทยได้รับพระกรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม ให้ร่มเย็นเป็นสุข 2) ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567 ต่อยอดจากภาพพระราชทานครั้งแรก 3) ลายหัวใจ ที่สื่อถึงความรักความห่วงใยและความภักดี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 4) ลายดอกรักราษฎร์ภักดี ที่ส่งต่อยอดจากผ้าลายดอกรักราชกัญญา โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ในวโรกาสที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าทอแบบโบราณ ณ บ้านคำปุน ตำบลคำน้ำแขบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พระองค์ได้พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” มีแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก จก บิด แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ ต่อไป ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่ The Athenee Hotel, a Luxury Collection Hotel ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อมอบให้ช่างทอผ้า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นำไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ สืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่นให้ดำรงอยู่คู่กับแผ่นดินไทย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” นับเป็นชื่อที่มีความหมายทรงคุณค่า ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดที่พี่น้องช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมได้น้อมนำมาผลิตสร้างสรรค์ชิ้นงานส่งเข้าประกวดตามพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนและได้ออกแบบลายผ้าพระราชทานให้กับผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้า ซึ่งมีความหมายแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพระองค์ท่าน และพสกนิกรไทยต่างมีความจงรักภักดี และมีจิตใจที่มุ่งมาดปรารถนาที่จะถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งการถวายพระพรชัยมงคลที่ทรงคุณค่ายิ่ง คือ การที่ทุกคนได้สนองพระปณิธานที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับเป็นธุระในการแบ่งเบาพระราชภาระ ดังพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้ข้าราชบริพาร เมื่อ พ.ศ. 2563 ซึ่งนอกจากพระองค์จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้ว ยังเป็นการช่วยสนองพระราชปณิธานอันแรงกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอยากเห็น ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข
“หลังจากนี้ คณะกรรมการตัดสิน ซึ่งประกอบด้วย คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ จะได้เดินทางไปตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 โดยภาคกลาง วันที่ 24 สิงหาคม 2567 ที่ห้องแซฟไฟร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ภาคเหนือ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมมีเลีย จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ วันที่ 7 กันยายน 2567 ที่โรงแรมลากูน่า แกรนด์ จังหวัดสงขลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 17 กันยายน 2567 ที่มณฑาทิพย์ฮอล์ จังหวัดอุดรธานี โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกระดับภาคจะเข้าสู่การประกวดรอบคัดเลือก ในวันที่ 21 กันยายน 2567 ที่ห้องฟีนิกซ์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เพื่อเข้าสู่การประกวดรอบ Semi Final ในวันที่ 23 กันยายน 2567 และรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่สุราลัยฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม โดยได้รับพระกรุณาคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานตัดสิน ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล จะเข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลในงาน Silk Festival ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1598/2567 วันที่ 16 ส.ค. 2567