เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 67 เวลา 14.15 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (ISEDZ) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Cloud Meeting) โดยได้รับเมตตาจาก พระปัญญาวชิรโมลี และพระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจารย์คณิต ธนูธรรมเจริญ ที่ปรึกษาเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวง/หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้แทนหน่วยกรม/สำนัก/กอง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งประกอบไปด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี ตลอดถึงโครงการพระราชดำริต่าง ๆ อันเป็นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการช่วยทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการเชิญชวนให้พวกเราทุกคนช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด และสืบสานในพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าและพระบรมวงศานุวงศ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ในการขับเคลื่อนให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุขอย่างยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำและขับเคลื่อนในการ “พัฒนาคนไปสู่การพัฒนาพื้นที่” โดยได้รับความกรุณาจากพี่น้องชาวมหาดไทยทุกคน โดยเฉพาะคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (ISEDZ) ที่ช่วยกันปลุกปั้นและวางระบบการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีความเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการทำให้ “เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ชุมชนพึ่งพาตนเองได้” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบพันธกิจในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยมีเป้าหมาย “ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน”” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวงมหาดไทยได้จับมือร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยทั้ง 2 ท่าน คือ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล มาช่วยกันทำในเชิงระบบโดยการน้อมนำ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา หรืออารยเกษตรร่วมกับสมาคมวิศวะขอนแก่น รวมถึงผู้นำภาคศาสนา และ 7 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานร่วมกับพี่น้องประชาชน นำไปสู่การขับเคลื่อนงานตามหลักการทรงงานเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน 4 กระบวนการ คือ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งหัวใจของการทำงานในการให้สำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ต้องได้รับความร่วมไม้ ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งความสำเร็จนั้นจะช่วยให้เกิดการ “Change for Good” ยกระดับภารกิจของการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน
“กระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” หรืออารยเกษตร ด้วยการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง จนนำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ จำนวน 859 ไร่ ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนและกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้มาศึกษาเรียนรู้แบบ “Learning by doing” ตามหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนด ทั้งได้มาใช้ชีวิต มาร่วมพัฒนาพื้นที่ชนบท ตลอดจนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา อารยเกษตร ด้วยการทดลองและใช้ชีวิตในลักษณะ “Sharing” แบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการประกอบอาชีพได้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย ได้รับความกรุณาและแนวคิดจากคุณชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา ที่ช่วยทำให้องค์ความรู้แบบ “Business model” เกิดขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะการมุ่งสู่หลัก “บันไดขั้นที่ 9 สู่ความพอเพียง” ตามศาสตร์พระราชา ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 พอกิน ขั้นที่ 2-4 พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ขั้นที่ 5-6 บุญและทาน ขั้นที่ 7 เก็บรักษา ขั้นที่ 8 การจำหน่าย ขั้นที่ 9 เครือข่าย ซึ่งเป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ “ระบบสหกรณ์” ประกอบไปด้วยการรวมกลุ่มร่วมกันดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และนำผลผลิตไปสู่การจำหน่าย ทำการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ ก่อให้เกิดอำนาจในการต่อรอง นำไปสู่การเพิ่มผลผลิต การเพิ่มรายได้ มีความมั่นคงและยั่งยืน
“ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการประชุมหารือร่วมกันของคณะทำงาน ISEDZ หรือ “Institute of Sufficiency Economy Development Zone” ในครั้งนี้ ที่เราทุกคนจำเป็นและพูดคุยหารือร่วมกัน เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อน ผ่าน 4 กระบวนการ ช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนการเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระดำรัสว่า “การทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืนเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย” นอกจากซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระกรุณาธิคุณในการผ่าทางตันของงานหัตถศิลและหัตถกรรม ภูมิปัญญาผ้าไทย รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิด “Sustainable Fashion” อีกทั้ง ยังทรงขับเคลื่อนน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” หรือโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ตลอดจนการดูแลคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนกำเนิดก็ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน การรับประทานไข่ไก่วันละ 3 ฟอง รวมถึงการดูแลสุขภาพ การเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นมีเป้าหมายอยู่ที่หมู่บ้านยั่งยืน คือ “ประชาชนมีความสุข” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการภายใต้โครงการ “จังหวัด/อำเภอ บำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็น “Key Success” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคนในพื้นที่ ขยายผลต่อยอดไปสู่การร่วมมือกันของ 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งการทำงานจะสำเร็จอย่างยั่งยืนและจะมีพลังได้ ต้องอาศัยผู้นำของกระทรวงมหาดไทย ในการผลักดันขับเคลื่อนด้วยหัวใจ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตาม 4 กระบวนการทำงานอย่างยั่งยืน ดังนั้น หน้าที่คนมหาดไทย ทุกกรมและทุกรัฐวิสาหกิจ มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ งาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เปรียบเสมือน “แม่น้ำทั้งร้อยสายไหลมารวมกันเป็นมหาสมุทร” ทุกคนจึงต้องมีหัวใจในการทำให้การขับเคลื่อนงานสำเร็จ เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1742/2567 วันที่ 6 ก.ย. 2567