น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์อุทกภัยที่ได้สร้างผลกระทบต่อบ้านเรือนและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างและนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่าให้แต่ละหน่วยงานพิจารณามาตรการให้การช่วยเหลือ เยียวยา ด้วยเกณฑ์สูงสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้พิจารณามาตรการในส่วนของกระทรวงมหาดไทย และได้ส่งหนังสือไปยังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เพื่อพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ที่ได้ผ่านมติ ครม. เมื่อ 17 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนผู้ประสบความเดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือมากที่สุดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช. ได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยได้ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ จากเดิมที่แยกตามระยะเวลาน้ำท่วมขังในพื้นที่อยู่อาศัย และให้อัตราการช่วยเหลืออยู่ที่ 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาทตามลำดับ โดยปรับเป็น ทั้งกรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่นำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และกรณีน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน ให้ได้รับในอัตราเหมาจ่ายอัตราเดียวที่ 9,000 บาทต่อครัวเรือน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ประสบภัยที่ได้รับความช่วยเหลือตามมติ ครม. เดิมไปแล้วครัวเรือนละ 5,000 บาทนั้น ให้มีการโอนเงินช่วยเหลือเพิ่มให้อีก แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 9,000 บาท ซึ่งการปรับเกณฑ์ในครั้งนี้เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติโดยเร็ว
“เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือด้วยเกณฑ์สูงสุด ท่าน มท.1 ได้เร่งพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่และเสนอต่อ ศปช. และท่านภูมิธรรในฐานะ ผอ.ศปช. ได้เห็นชอบแล้วหลังจากนี้จะได้เร่งเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์และจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนในอัตราเดียวที่ครัวเรือนละ 9,000 บาทต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1909/2567 วันที่ 4 ต.ค. 2567