น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค. 67) เวลา 17.50 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลชัยนาทนเรนทร ปี พ.ศ. 2567 นักการสาธารณสุขดีเด่น เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรางวัล ซึ่งในปีนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้รับการคัดเลือกเป็นนักการสาธารณสุขดีเด่น “ประเภทบริหาร” ด้วย
สำหรับรางวัลชัยนาทนเรนทรนี้ เกิดขึ้นจากที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และมหาวิทยาลัยนเรศวร คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีผลงานดีเด่นระดับประเทศ 5 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทบริหาร ประเภทบริการ ประเภทวิชาการ ประเภทผู้นำชุมชน และประเภทประชาชน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่อุทิศตนทำคุณประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข อย่างทุ่มเทและเสียสละต่อเนื่องกันอย่างน้อย 5 ปี และการทำงานนั้นส่งผลต่อการพัฒนางานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ก่อให้เกิดการสาธารณสุขที่ดี ส่งผลต่อการมีคุณภาพที่ดีขึ้นของประชาชนในระดับชาติ เป็นแบบอย่างแก่นักการสาธารณสุขทั่วไปได้เจริญรอยตาม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อครั้งนายอนุทิน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ระหว่างปี 2562-2566 ได้ขับเคลื่อนบริหารราชการด้านการสาธารณสุขในมิติต่าง ๆ อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2562-พ.ศ. 2566) ภายใต้นโยบาย Health for Wealth “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ตำแหน่งในขณะนั้น เป็นบทพิสูจน์ถึงความมั่งมั่น ตั้งใจ เพื่อต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ การส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เมื่อประชาชนเจ็บป่วยต้องได้รับการดูแลรักษาให้หาย ลดจำนวนผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง กระบวนการรักษาต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพ อสม. เป็นทีมหมอครอบครัว เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางไปพบแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่
รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพ หน่วยบริการทุกระดับให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ อาทิ การให้ความสำคัญสูงสุดต่อโครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ การยกระดับระบสุขภาพพื้นฐาน การยกระดับสมุนไพรไทย กัญชา กัญชง เพื่อการแพทย์และกระตุ้น การควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน ข้าราชการได้รับการบรรจุใหม่รุ่นโควิด-19 เพิ่มสวัสดิการ อสม. สร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการได้รับคัดเลือกจากประเทศอาเซียนให้จัดตั้ง สำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ หรือ ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases; ACPHEED
ไม่เพียงเท่านี้ ในชีวิตส่วนตัวยังมีอีกหนึ่งบทบาทของการเป็นพลเมืองไทย เพื่อการช่วยเหลือ ต่อชีวิต ต่อลมหายใจให้กับอีกชีวิตหนึ่ง เป็นงานที่ทำเป็นการส่วนตัว เป็นเรื่องศรัทธาเฉพาะตัว ไม่ต้องการทำงานสร้างภาพให้โดดเด่น แต่ด้วยการเป็นบุคคลสาธารณะของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงถูกหยิบยกเรื่องการบินรับส่งหัวใจ หรือ ปฏิบัติการหัวใจติดปีก ซึ่งเป็นกิจกรรมช่วยเหลือสังคมด้วยการขับเครื่องบินส่วนตัว สนับสนุนทีมแพทย์ในการรับส่งอวัยวะจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ กรณีรับ-ส่งเร่งด่วนที่เครื่องบินพาณิชย์ หรือยานพาหนะอื่น ๆ ไม่สามารถส่งต่ออวัยวะแก่ทีมแพทย์ เพื่อไปรับอวัยวะจากผู้เสียชีวิตและนำไปเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้กับผู้ป่วยอื่นที่รอการรักษาช่วยชีวิต ภารกิจนี้ปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันที่ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 2087/2567 วันที่ 12 ธ.ค. 2567