วันนี้ (31 มีนาคม 2568) เวลา 11.00 น. น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (คณะกรรมการ ปคม.) ครั้งที่ 2/2568 ณ ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานบังคับ การบังคับค้าประเวณี หรือการล่อลวงแรงงานข้ามชาติให้ตกเป็นเหยื่อการแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม การยุติการค้ามนุษย์จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การประชุมในวันนี้ ได้พิจารณาและเห็นชอบร่างรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานฯ (Progress Report) ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งครอบคลุม 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย ด้านการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหาย และด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ โดยส่วนของกรอบระยะเวลาการประเมินผลการจัดระดับ (Tier) โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (US MOFA) ได้กำหนดช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2567 – มีนาคม 2568 โดยที่ประชุมได้เสนอให้เพิ่มมาตรการเข้มข้น เช่น การดำเนินงานของภาครัฐด้าน “Force Criminality” อาทิ มาตรการตัดน้ำ-ตัดไฟ และการขับเคลื่อนกลไก NRM (National Referral Mechanism) เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
กระทรวงมหาดไทยได้รับหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะที่สำคัญ ต่อการดำเนินงานของประเทศไทย โดยเฉพาะข้อที่ 8 ซึ่งมุ่งเน้นการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถใช้มาตรา 6/1 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อระบุตัวตนและคัดแยกผู้เสียหายจากการถูกบังคับใช้แรงงานได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นด่านแรกของการสกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์ ดังนั้น จึงต้องเดินหน้าพัฒนากระบวนการฝึกอบรมให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองผู้เสียหาย ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการลดจำนวนเหยื่อจากการค้ามนุษย์ในประเทศไทย
นอกจากนี้ น.ส.ธีรรัตน์ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนากลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลที่ทันสมัยในการติดตามและคัดแยกผู้เสียหาย ตลอดจนขยายความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างมาตรการป้องกันและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 226/2568 วันที่ 31 มี.ค. 68