มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
ตามแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ
วันนี้ (3 ต.ค. 62) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและมีบัญชาในเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามมาตรการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤต) โดยให้ติดตาม เฝ้าระวัง ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จัดทำแผนเผชิญเหตุให้ครอบคลุมทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ เพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาตามระดับค่าฝุ่นละอองระดับ 1 – 4 รวมทั้งสร้างการรับรู้และให้คำแนะนำการปฏิบัติตนให้กับประชาชน 2) มาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) โดยให้ดำเนินมาตรการด้านการขนส่งและจราจร เช่น ตรวจจับรถควันดำ รณรงค์ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ตลอดจนการฉีดล้างทำความสะอาดพื้นผิวถนนอย่างต่อเนื่อง และให้ดำเนินมาตรการควบคุมการเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด และดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อควบคุม และลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากการก่อสร้างและระบบสาธารณูปโภคให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ 3) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่รับผิดชอบ โดยใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสร้างเครือข่ายแจ้งเตือนและสร้างการรับรู้กับประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งจัดระเบียบการเผาตามลักษณะพื้นที่และช่วงเวลาตามความเหมาะสมและสอดคล้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งสร้างความตระหนักและลดการเผาในที่โล่งและในที่ชุมชน/เมือง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองสูงให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก และหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันไม่ให้สูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย สตรีมีครรภ์ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และหากผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 165/2562
วันที่ 3 ต.ค. 2562