วันนี้ (4 มิ.ย. 66) ที่หมู่ที่ 1 ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะประธานคณะทำงาน Change for Good จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดจันทบุรี ภายใต้การนำของ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้กำหนดนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนงานของจังหวัด โดยนำนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในด้านการเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ด้วยการหนุนเสริมทีม Change for Good ของจังหวัดจันทบุรี ทำงานสอดประสานไปกับทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการมุ่งขับเคลื่อนการทำงานเป็นทีม หรือเรียกว่าการทำงานแบบภาคีเครือข่าย ตามเป้าหมาย SDGs ข้อที่ 17 การสร้าง Partnership หุ้นส่วนการพัฒนา
“จังหวัดจันทบุรี ได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาพื้นที่พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการปลูกพืชผักสวนครัว ตลอดแนวสองข้างทางถนน ซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ควบคู่ไปกับการพัฒนาดินและเสริมสร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญของดิน ภายใต้แนวคิด อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (Soils, where food begins) เพื่อพัฒนาพื้นที่หมู่ที่ 1 ของ ต.บางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ให้เป็นต้นแบบให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งของการพัฒนาตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับทุกจังหวัด ทุกอำเภอ น้อมนำแนวพระดำริเรื่อง “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) มาดำเนินการขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยในระดับพื้นที่อำเภอได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งกลไกขับเคลื่อนโครงการฯ ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน/ชุมชน โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)/คณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) และคณะกรรมการชุมชน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) เกิดผลเป็นรูปธรรม ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ” รองผู้ว่า ฯ วิสุทธิ์ กล่าว
นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่ถือเป็นความงดงาม และเป็นหลักชัยของการทำงานแบบภาคีเครือข่าย คือจังหวัดจันทบุรีมี คณะสงฆ์เป็นภาคีเครือข่ายสำคัญ ตามหลัก “บวร” ทั้งเครือข่ายหมู่บ้าน(บ) เครือข่ายวัด(ว) เครือข่ายโรงเรียนและราชการ(ร) ตาม MOU การขับเคลื่อนโครงการบ้าน วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม ส่งผลให้พลัง “บวร” ทำให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และเป็นต้นแบบการดำเนินงานไปกับพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบ และพลัง “บวร” ในครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์อันมหาศาลต่อพื้นที่รกร้างว่างเปล่าสองข้างถนนนี้ ไม่ว่าจะเป็น พืชผักสวนครัว สภาพดินที่ดีขึ้นเหมาะแก่การเป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นรากฐานระบบนิเวศที่เอื้อเฟื้อ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และท้ายสุดคือการทำให้คนในชุมชนสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน มีพืชผักสวนครัวที่ปลอดสารพิษไว้บริโภคตลอดทั้งปี และที่สำคัญสามารถนำมาแบ่งปันกันในชุมชน ส่งผลให้ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ และทั้งจังหวัด มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้รักสามัคคี เอื้ออาทร เป็นการสร้างความรักความสามัคคีในชุมชน ประชาชนมีความสุข อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง
นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้กิจกรรมนี้ลุล่วงสำเร็จตามเป้าหมาย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งในการทำให้การพัฒนาพื้นที่หมู่ที่ 1 ของ ต.บางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เป็นต้นแบบให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ พัฒนาไปสู่โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ด้วยพลังภาคีเครือข่าย Partnership ที่จะทำให้จันทบุรีเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน
#กระทรวงมหาดไทย #MOI #หมู่บ้านยั่งยืน #เรื่องเล่าจากชุมชน #วันดินโลก #SEPforSDGs #Worldsoilday
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 512/2566 วันที่ 4 มิ.ย. 2566