วันนี้ (5 ธ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 66 เวลา 19.00 น. ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ถ.เทียมร่วมมิตร กรุงเทพฯ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประจำปี 2566 ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมรับชมเป็นจำนวนมาก
โดยภายหลังจบการแสดง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบช่อดอกไม้แด่ผู้แทนคณะกรรมการและคณะนักแสดง ได้แก่ 1) รศ.ดร. ศุภชัย จันทร์สุวรรณ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ผู้กำกับการแสดง 2) นายประเมษฐ์ บุญยะชัย ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ผู้ประพันธ์บท 3) นายวิโรจน์ อยู่สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนครูผู้ฝึกสอน 4) ผศ.ดร. ธีรภัทร ทองนิ่ม ผู้แทนคณะนักร้อง นักพากย์ เจรจา และนักดนตรี และ 5) นายอรรถพล อ่อนสุวรรณ ผู้แทนนักแสดง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่มั่นคง ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงโขนที่ถือเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย เพื่อให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมสำคัญของชาติ ดังพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงเล็งเห็นว่า หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ก็จะทำให้สูญหายไปตามกาลเวลา
“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยในการแสดงโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยจะเลือนหายไป จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้รวบรวมครูผู้เชี่ยวชาญและศิลปินหลายท่าน ศึกษาค้นคว้าศาสตร์และศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาของการจัดแสดงโขน โดยให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ร่วมฟื้นฟูโดยจัดสร้างเครื่องแต่งกาย ศิราภรณ์ หัวโขน และเครื่องประดับทุกชนิดของโขนขึ้นมาใหม่อย่างสวยงาม ปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขน และส่งเสริมให้ครูผู้เชี่ยวชาญโขนฝึกฝนเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อสืบทอดการแสดงโขนต่อไป การจัดแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แต่ละครั้งต้องมีการจัดเตรียมความพร้อมหลายด้าน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับปี 2566 นี้ นับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยอีกวาระหนึ่ง เนื่องในวันที่ 28 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 71 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 91 พรรษา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงร่วมเฉลิมฉลองโอกาสมหามงคลนี้ ด้วยการจัดการแสดงโขน ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” โดยยึดแนวบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จับตอนตั้งแต่หลังจากที่กุมภกรรณทำศึกโมกขศักดิ์กับพระลักษมณ์ แต่ไม่สำเร็จ ยังไม่สามารถสังหารพระลักษมณ์ได้ จึงคิดหายุทธวิธีทำกลศึก นิมิตกายลงไปทำพิธีทดน้ำใต้น้ำ โดยนอนขวางแม่น้ำไว้เพื่อขัดขวางกองทัพพระราม และเมื่อหนุมานแปลงเป็นเหยี่ยวสืบรู้ความลับของกุมภกรรณ เมื่อดำน้ำลงไปทำให้ได้พบว่ากุมภกรรณนอนขวางอยู่ หนุมานจึงนิมิตกายแผลงฤทธิ์และต่อสู้จนกระทั่งกุมภกรรณพ่ายแพ้หนีไป จากนั้นกุมภกรรณได้ยกกองทัพออกรบกับฝ่ายพระราม-พระลักษมณ์ จนท้ายที่สุดกุมภกรรณต้องศร และเห็นว่าพระรามมี 4 กร จึงรู้ทันทีว่าเป็นพระนารายณ์อวตารลงมา จึงทูลขออภัยโทษและฝากฝังพิเภก พระรามพระราชทานอภัยโทษและให้พรกลับคืนขึ้นไปสู่ฟากฟ้า
“สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” แบ่งการแสดงออกเป็น 2 องก์ องก์ที่ 1 มีจำนวน 5 ฉาก คือ ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา ฉากตำหนักกุมภกรรณ ฉากต้นกร่างใหญ่ริมแม่น้ำ ฉากป่าริมฝั่งน้ำ และฉากพลับพลาพระราม และองก์ที่ 2 มีจำนวน 4 ฉาก คือ ฉากอุทยานท้ายตำหนักกุมภกรรณ ฉากใต้น้ำ ฉากหน้าพระลานกรุงลงกา และฉากสนามรบ โดยมีครูผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ศิลปิน นักแสดง รวมถึงนักแสดงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมโดยครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ร่วมแสดงฯ และตลอดการแสดงมีการบรรเลงดนตรีไทย การขับร้องเพลงไทยเดิมอันไพเราะ สลับการแสดงตลก โดยผู้ร่วมทำการแสดงทุกคนต่างแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายอันวิจิตรประณีตที่ได้รับการเย็บปักโดยสุดยอดช่างของแผ่นดิน จึงนับได้ว่าเป็นการแสดงที่ควรร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดให้คงอยู่คู่กับแผ่นดินไทยสืบไป” ดร.วันดีฯ กล่าวเพิ่มเติม
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1183/2566 วันที่ 5 ธ.ค. 2566