วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.22 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในการทรงเป็นประธานเปิดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย คณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และผู้ประกอบการเฝ้ารับเสด็จ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กราบทูลถวายรายงานความโดยสังเขปว่า “กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับพระราชทานพระอนุญาตให้จัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านงานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทยให้ดำรงคงอยู่ด้วยพระอัจฉริยภาพ และทรงนำพระประสบการณ์มาใช้ ทำให้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้แก่พสกนิกรอย่างยั่งยืน”
โอกาสนี้ นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กราบทูลเบิกผู้เข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลแก่คณะทำงานกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน และดีไซเนอร์ที่สนองงานผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี 2567 และพระราชทานเหรียญรางวัลการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ ประจำปี 2567 แบ่งเป็น เหรียญรางวัลพิเศษ (เหรียญทอง) ประกอบด้วย Best of the Best ได้แก่ ประเภทผ้ายกใหญ่ จากพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน (สถาบันสิริกิติ์) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเหรียญรางวัลพิเศษขวัญใจแม่น้ำหอม ประเภทผ้ายก จากปาริชาติไหมไทย จังหวัดลำพูน, รางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญนากแก่ผู้ชนะการประกวดฯ ประเภทผ้า 14 ประเภท และประเภทงานหัตถกรรม รวม 44 รางวัล รวมทั้ง ประกาศนียบัตรแก่รางวัลชมเชย ประเภทผ้าฯ และประเภทหัตถกรรม รวม 30 รางวัล โดยปีนี้ มีกลุ่มผู้ผลิต, ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย รวมทั้ง ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมจาก 4 ภูมิภาค ส่งผลงานเข้าประกวดฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 รวมทั้งสิ้น 8,651 ชิ้นงาน
จากนั้น พระราชทานโล่รางวัลต้นกล้านารีรัตนแก่ผู้ชนะการประกวดตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล จำนวน 6 รางวัล, พระราชทานเหรียญทองแก่นักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ <<New Gen Young Designer 2024>> จำนวน 1 รางวัล และพระราชทานประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะ ระดับ 6 สาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลป์หัตถกรรม และงานพื้นบ้าน และสาขาผ้าเขียน – พิมพ์ลาย ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน ) จำนวน 7 รางวัล
แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ภายใต้ แนวคิด “Silk Success Sustainability” เพื่อสร้างการรับรู้การพัฒนาผลงานผ้าไทยสู่สากล และเผยแพร่ความสำเร็จของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประกอบด้วย
นิทรรศการสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาการถักทอผืนผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นไทย การจัดแสดงโต๊ะทรงงานเมื่อครั้งเสด็จไปในงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชน และนิทรรศการโครงการตามแนวพระดำริฯ ผ้าไทยใส่ให้สนุก อาทิ ผ้าลายพระราชทานในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งได้พระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เป็นลายแรก เมื่อปี 2563 และในปีนี้ พระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” โดยมีลายผ้าพระราชทานแล้ว รวม 9 ลาย โครงการชาติพันธุ์โมเดลสู่ตลาดสากล และยังมีการจัดแสดงภูมิปัญญาสาธิต เช่น การปักผ้าด้วยมือ การสลักถมเงินถมทอง การสาวไหมลงกระบุง รวมทั้งการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทยร่วมสมัย ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค ผ้าไทยจากโครงการศิลปาชีพฯ และผ้าไทยโดยการออกแบบของดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ รวม 200 บูธ พร้อมทั้งร้านโอทอปชวนชิม จำนวน 50 ร้านค้า
ภายหลังจากทอดพระเนตรนิทรรศการแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทอดพระเนตรการแสดงแบบภูมิปัญญาจากผ้าไทย <<Sustainable Fashion>> โดยดีไซเนอร์แบรนด์ไทย จำนวน 16 แบรนด์ ซึ่งนำผ้าไทยที่ถักทอด้วยเทคนิคประเภทต่าง ๆ มาออกแบบตัดเย็บให้มีความทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกวัย ได้แก่ 1. แบรนด์ SIRIVANNAVARI 2. ผ้าไหมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 3. TIRAPAN ผ้าไหมมัดหมี่ จากไหมทองสุรนารี 4. THEATRE ผ้าไหมบาติกจากซาโลมาปาเตะ 5. ASAVA ผ้าไหมขิดจากอุดรธานีและผ้าไหมออแกนซ่า 6. ISSUE ผ้าไหมบาติกจากรายาบาติก 7. WISHARAWISH ผ้าไหมมัดหมี่จากโรงการนาหว้าโมเดล 8. JANESUDA ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์ 9. MILIN ผ้าชาวไทยภูเขา จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 10. ARCHIVE026 ผ้าไทยทวีตและผ้าทอเส้นใยสร้างสรรค์ 11. IRADA ผ้าไหมแต้มหมี่จากจังหวัดขอนแก่น 12. LANDMEE’ ผ้าไหมบาติกจากโครงการบาติกโมเดล 13. TandT ผ้าไหมบาติกจาก KAYA BATIK 14. VICKTEERUT ผ้าไหมยกดอกลำพูนจากเรวัตรไหมไทย 15. VATITITTHI ผ้าไหมยกดอกจากกลุ่มทอผ้าลายมงคล มนตราธิกาญจน์ 16. PYVET ผ้าไหมมัดหมี่จาก โครงการนาหว้าโมเดล และดีไซเนอร์รุ่นใหม่ นายทวีศักดิ์ จัตุวัน นักออกแบบรุ่นใหม่ แบรนด์ CHAI GOLD LABEL
และไฮไลท์สำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 คือ การเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบแฟชั่นผ้าไทยสู่สากล โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะทรงเป็นองค์ประธานการเสวนา ร่วมกับตัวแทนสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทยอีกด้วย
“ขอเชิญชวนร่วมงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6 – 7 เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศ จำนวน 200 ราย และอาหารชวนชิม กว่า 50 ร้านค้า โดยทุกท่านสามารถชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์และหัตถกรรมของไทย ร่วมชม ช้อปสินค้า ชิมอาหารเลิศรส เช็คอินงานรวมสีสันต์สดใส กับแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยจาก 16 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำอีกด้วย”
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 2055/2567 วันที่ 28 พ.ย. 2567