วันนี้ (1 ก.ค. 68) เวลา 10.10 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตร์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ประจำปี 2568 รุ่นที่ 1 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางนงลักษณ์ ซุ้นหั้ว นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุดรธานีและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นายพิสิษฐ์ชัย อภัยปิยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี น.ส.รัตนา สรภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพิสดาร ประดา ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แล้วผู้เข้ารับการฝึกอบรม ร่วมพิธี
การฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายกองตรี ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดโท น้ำเพชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) พันเอก จักริน จิตคติ (ครูหนุ่ย) วิทยากรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน
นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านความมั่นคง ซึ่งได้กำหนดประเด็นการพัฒนาและเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติที่มุ่งส่งเสริมให้คนในชาติมีความสำนึก หวงแหน พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวเป็นศูนย์รวมจิตใจหนึ่งเดียวของคนทั้งชาติ ด้วยการปลูกฝังสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของชาติ รณรงค์เสริมสร้างความรักความภูมิใจในความเป็นคนไทย และชาติไทยผ่านกลไกต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ในเชิงสร้างสรรค์ น้อมนำและเผยแพร่ศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงแนวทางพระราชดำริต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง ตลอดจนส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งมีรากฐานจิตสำนึกความรักความเป็นไทย มีคุณธรรมจริยธรรมค่านิยมและหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมือง สถาบันหลักของชาติ และการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ จึงต้องขอขอบคุณท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานทั้ง 4 ท่าน คือ ครูป๊อด ครูปั๊ม ครูป้ายู และครูหนุ่ย ที่ได้เดินทางมาที่อุดรธานี เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับพวกเราทุกคน
“ทุกคนเกิดมาเป็นคนไทย ต้องมีความภูมิใจเพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เราเป็นเอกราชมาอย่างยาวนาน มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง สะท้อนผ่านแผนที่โลกที่หากทุกคนเคยดูแล้ว จะเห็นว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่ถูกระบายสีใดใด” เพราะเขาจะระบายสีเฉพาะประเทศที่เสียเอกราช ไทยเราเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่เป็นสีขาว หมายถึง ปลอดจากการเป็นเมืองขึ้นของผู้อื่น เพราะด้วยสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่ทุกคนได้ยึดเหนี่ยวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเฉพาะ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ที่ทรงเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ทรงทศพิธราชธรรม ทำให้ประเทศเราสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในสังคมเวทีโลก และแม้ว่าวันนี้สิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ด้วยความท้าทายที่มีมากมายตามยุคสมัย แต่หน้าที่ที่สำคัญของพวกเราทุกคน คือต้องช่วยกันเสริมสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ดังเนื้อร้องเพลงชาติไทยตอนหนึ่งที่ว่า “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่” นายอรรษิษฐ์ กล่าว
นายอรรษิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนมีความภาคภูมิใจในฐานะเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมื่อครั้งตนดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน คนที่ 42 ตนได้เป็นประธานพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเมื่อครั้งรัชกาลปัจจุบัน ตนได้ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีตักน้ำมุรธาภิเษก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งนับเป็นเกียรติยศและเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดที่ได้ถวายงานสนองพระมหากรุณาธิคุณและถวายพระเกียรติยศสูงสุดแด่พระองค์ร่วมกับเพื่อนข้าราชการทุกคนทั่วทั้งราชอาณาจักร ซึ่งความภาคภูมิใจในการเป็นข้าราชการที่ดีนั้น เราต้องสำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน และพึงระลึกเสมอว่าเรารับเงินเดือนจากเงินภาษีของพี่น้องประชาชน จึงมีหน้าที่ต้องทำให้พี่น้องประชาชนได้อยู่ดีมีสุข ด้วยการเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ตำแหน่งใด เราต่างมีความสำคัญทั้งหมด และเมื่อฟันเฟืองทุกส่วนมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวก็จะทำให้ประเทศชาติมีความเข้มแข็ง ขณะที่ผู้ที่เป็นเกษตรกรท่านก็เป็นคนสำคัญ เป็นคนที่จะผลิตพืชผลทางการเกษตร เพื่อที่จะทำให้ประเทศของเราได้มีกินมีใช้หากโลกต้องเผชิญกับสงคราม ด้วยการ “พึ่งพาตนเอง” ตามศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และในยามบ้านเมืองสงบ พืชผลทางการเกษตรก็คือสินค้าที่ทำให้ไทยได้มีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ จึงฝากพวกเราได้ร่วมการขยายผลหลักการพึ่งพาตนเอง อาทิ โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ที่พวกเราได้เริ่มต้นปลูกในพื้นที่บ้านพัก ในสถานที่ปฏิบัติงาน ให้แผ่ขยายไปยังบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ การที่เราเป็นข้าราชการ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ต้องลงพื้นที่ไปสัมผัสทุกอย่างที่เป็นภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ เพื่อวันหนึ่งเราย้ายไปแล้ว จะได้ภาคภูมิใจว่า เราได้เรียนรู้ที่นี่ อยู่อย่างรู้ทุกอย่าง ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องทำงาน
“ตนเชื่อมั่นว่า “สามัคคีคือพลัง” ไม่มีอะไรที่จะทำลายเราได้ถ้าเรามี “ความสามัคคี” ดังพระบรมราโชวาท “รู้ รัก สามัคคี” และ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ดังปณิธานของชาวกรมการพัฒนาชุมชน “จะพัฒนาใครเขา…ต้องพัฒนาตัวเราก่อน” โดยเริ่มจากแสวงความรู้ด้วยการทำความเข้าใจ ทำจนเกิดเป็นความรักพื้นที่ที่อยากเข้าถึง เมื่อเราเข้าถึงก็จะรู้ปัญหาอุปสรรค นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างถ่องแท้ เมื่อเราลงพื้นที่ไปร่วมกับชุมชนบ่อย ๆ ก็จะเกิดความสามัคคี และนำไปสู่สิ่งสุดท้ายคือ “การพัฒนา” และตนขอยืนวันว่า “ไม่มีประเทศไหนที่พัฒนาได้โดยขาดความสามัคคี” เพราะแม้บางประเทศจะมีความเจริญแต่ก็อาจจะมีปัญหาได้ตลอดถ้าคนในประเทศไม่มีความสามัคคีแล้วยังจะนำไปสู่ความแตกแยกในหมู่ผู้คนด้วย ดังนั้น เราทุกคนต้องรวมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจ ช่วยกันเป็นครู ก.ไปถ่ายทอดความรู้ ทำให้ครู ข. ทำให้พี่น้องประชาชนรู้ถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างแท้จริงว่า บรรพบุรุษไทยของเราได้ทำให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างไร เพื่อสุดท้ายการถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และทุกคนจะเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้ประเทศชาติของเราเติบโตได้และเป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งพาใคร และนอกจากความรู้ที่ได้รับแล้ว ขอให้มีความสัมพันธ์กัน เป็นเพื่อนกัน การที่ได้มาเจอกันเป็นสิ่งวิเศษสุดแล้ว เพราะถ้ามาแล้วไม่รู้จักใครเลย มันก็น่าเสียดายที่โอกาสมีมาเจอกันแล้ว ถ้าเราได้รู้จักเพื่อนที่ดีจำนวนมาก สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้นทั้งกับเราและผู้อื่น ดังสุภาษิตไทยที่ว่า..รู้อะไรไม่สู้รู้จักกัน” นายอรรษิษฐ์ กล่าวในช่วงท้าย
ด้าน น.ส.รัตนา กล่าวว่า การฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ประจำปี 2568 กำหนดฝึกอบรมระหว่างวันที่ 1 ก.ค. – 18 ส.ค. 68 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 4 รุ่น รวม 480 คน วันนี้เป็นรุ่นที่ 1 มีกลุ่มเป้าหมายจาก 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ก.ค. 68 รวม 5 วัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การดำรงความเป็นไทย ความเสียสละของบูรพมหากษัตริย์ไทย เพื่อนำความรู้ที่ได้และประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอด ขยายผลเพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง เกิดค่านิยมของการเป็นผู้มีสำนึกตระหนักในความเป็นไทย มีความรักและห่วงแหน สมัครสมานสามัคคี น้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยได้รับความอนุเคราะห์คณะวิทยากรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานให้ความรู้ทางวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดจนการทดสอบเพื่อวัดมาตรฐานของผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยผู้ผ่านการทดสอบจะได้รับวุฒิบัตรจากวิทยากรและปลัดกระทรวงมหาดไทยและได้รับบัตรประจำตัวครูผู้สอนประวัติศาสตร์ชาติไทยของกระทรวงมหาดไทย
.
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 484/2568 วันที่ 1 ก.ค. 2568