วันนี้ (22 ก.ย. 65) เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 65 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 กระทรวงมหาดไทย ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทักษะการจัดทำข่าวประชาสัมพันธ์ โดยได้รับเกียรติจาก นายไมตรี อินทุสุต คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารสังคม ร่วมเป็นวิทยากรและบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “การสื่อสารสังคม เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร” ให้แก่อำเภอทุกอำเภอทั่วประเทศ โดยในวันนี้มีนายอำเภอ ผู้แทนนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของอำเภอ และบุคลากรจากกรมและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมรับฟังการบรรยายผ่านระบบ Zoom Meeting นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายในหัวข้อ “การประชาสัมพันธ์ในยุค Disruptive” จาก ผู้แทนภาคเครือข่ายรัฐ (นายศิริพงศ์ อริยสุนทร) และ ผู้แทนภาคีเครือข่ายภาคสื่อสารมวลชน(นายทศ ลิ้มสดใส) ในช่วงท้ายอีกด้วย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาระบบติดตามรายงานอำเภอนำร่อง ซึ่งเป็นมีลักษณะเป็น Dash Board ให้ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้ในการติดตามการทำงานของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ มุ่งสู่ Data Driven Organization รวมถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงมหาดไทยจะทำการขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ทุกอำเภอสามารถใช้งานระบบติดตามรายงานได้ ซึ่งในด้านการสื่อสาร หรือ การรายงานผล (Report) ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้คนอื่นรู้ว่า ขณะนี้มีกิจกรรมอะไร เป็นต้น โดยการรายงานผลจะประกอบด้วย การรายงานผลทางแคบ หรือตามสายบังคับบัญชา และการรายงานผลทางกว้าง หรือ คนรอบ ๆ ตัว เพื่อนร่วมงาน คนในองค์กร ไปจนถึงประชาชน และประชาคมโลก อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับว่าเนื้อหา (Contents) อยู่ในกระแสความสนใจของสังคมหรือไม่ แต่ต้องมีการสื่อสาร เพราะจะนำมาสู่การยอมรับนับถือจากคนภายนอก เพื่อเชิญชวนให้มาร่วมเป็นเครือข่ายในการทำงาน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประสบความสำเร็จอย่างมีพลัง
นายไมตรี อินทุสุต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารสังคม กล่าวว่า ทุกคนสามารถเป็นนักสื่อสารได้ โดยจะต้องมีการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงพี่น้องประชาชน และเข้าใจด้วยการลงพื้นที่ไปสัมผัสไปสื่อสาร ไปพูดคุยหารือปัญหา พบปะภาคีเครือข่ายด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนหวาน อ่อนโยน ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ การสื่อสารที่ดี เพื่อสร้างภาพลักษณ์ (Brand) จะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบ 5C คือ Content (เนื้อหา) Creative (สร้างสรรค์) Charisma (มีเสน่ห์) Characteristic (มีเอกลักษณ์) และ Colorful (มีสีสัน ตื่นเต้น ตื่นใจ) ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถสร้างความประทับใจ ทำให้ชนะใจ และต้องทำได้ด้วยหัวใจ หรือความจริงใจ สิ่งสำคัญ คือจะต้องระมัดระวังการใช้คำที่มีข้อจำกัด เช่น ใช้ได้เฉพาะในบริบทบางพื้นที่ พูดแล้วทำให้เข้าใจไม่ครบถ้วน เกิดความสับสนว่าต้องการจะสื่อสารอะไร ประการต่อมา ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดเชิงลบที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และต้องไม่สื่อสารนำเสนอผลงานที่ชื่นชม ยกยอ แต่ตัวเองจนเกินไป ให้นำเสนอเนื้องาน และผลงานที่เป็นรูปธรรม เป็นเชิงประจักษ์ บนพื้นฐานความสุจริต และให้เสนอข่าว การทำงาน ที่เกิดความร่วมมือกับภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายที่เกิดจากความร่วมมือในพื้นที่จริง จึงจะสามารถสื่อสารเพื่อนำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดความศรัทธากับองค์กรได้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การประชุมในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลในด้านการสื่อสารของกระทรวงมหาดไทย พี่น้องชาวมหาดไทยทุกคนทำงานหนัก ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยที่นำหลักการทำงานกลไก 3 5 7 (3 ระดับ 5 กลไก และ 7 ภาคีเครือข่าย) รวมถึงการหลักการ บวร บรม ครบ มาใช้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาคน ในการทำงานหากทำงานดีครบถ้วนทุกกระบวนการแล้ว แต่ไม่ได้สื่อสารออกไปก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ไม่ได้บอกกล่าวให้ประชาชนได้รู้ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เคยกล่าวไว้ว่า “การเป็นผู้นำนั้น ต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง คือ ต้องออกตรวจตราจนรองเท้าขาด ไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด” คนมหาดไทยสมัยก่อนมักทำดีแบบปิดทองหลังพระ แต่ปัจจุบันต้องทำงานเป็นทีมด้วยความสามัคคี เหมือนแขนงไม้ไผ่ที่มัดรวมกันทำให้ต้องใช้กำลังเป็นอย่างมาก ในการหัก ดังนั้น คนมหาดไทยต้องมีการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก (สังคม) เพื่อให้เกิดการรวมไม้ร่วมมือ เกิดการบูรณาการจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาเป็นพลังในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ อันจะเป็นการ Change for Good ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 367/2565 วันที่ 22 ก.ย. 65