วันนี้ (29 กันยายน 2565) เวลา 13.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกิจกรรมมหาดไทยปันสุขของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจัดขึ้นภายในงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ “การขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในงาน Sustainability แห่งชาติสิริกิติ์ ว่า กิจกรรมดังกล่าวได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลาม ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้เยี่ยมชมงานที่แวะเวียนเข้ามายังบูธกันอย่างเนืองแน่น พร้อมกับหอบหิ้วผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงผลิตภัณฑ์ OTOP ติดไม้ติดมือกลับไปบ้านด้วยความครึกครื้นและอิ่มเอมใจ เพื่อให้ทุกท่านที่เข้าเยี่ยมชมงานสามารถนำไปบริโภค รับประทาน หรือนำไปฝากพี่ ๆ น้อง ๆ ญาติผู้ใหญ่ได้ โดยไม่ต้องซื้อ เพียงแต่ร่วมบริจาคตามกำลังศรัทธาแทน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับการสนับสนุนผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา และผลผลิตอื่น ๆ จากภาคีเครือข่าย ทั้งเกษตรกร โคก หนอง นา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มผู้นำชุมชนต้นแบบ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ ผ่าน “เครือข่าย ปันบุญ ปันน้ำใจ” ซึ่งทุกภาคส่วนต่างก็มีเจตนาอันเป็นกุศลโดยทั่วกัน ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” มาเผยแพร่ข่าวสารเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและองค์กรต่างๆ มาร่วมใจกันสานต่อแนวพระราชดำริให้เกิดผลอย่างรูปธรรมผ่านกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข” อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของกระทรวงมหาดไทย ในการแก้ไขในสิ่งผิด โดยการสามารถพลิกฟื้นให้กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มภาคเครือข่ายอื่นๆ ได้พัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ และพัฒนาชุมชนของตนให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว้ด้วย
“สำหรับกิจกรรมมหาดไทยปันสุขในวันนี้ ได้มีการนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์ สินค้าจากชุมชน จาก เครือข่าย ปันบุญ ปันน้ำใจ มาร่วมแบ่งปันหลากหลาย ได้แก่ ข้าวหอมปลอดสารพิษ จากโรงสีชุมชนบ้ายดอนบ่อ จังหวัดอ่างทอง, แจ่วบองบ้านไชยา บังอร (แจ่วบองสมุนไพร) จากจังหวัดหนองคาย, ฝรั่งจากจังหวัดบุรีรัมย์, ข้าวหอมมะลิ คีรีวิไรซ์ จากจังหวัดสุพรรณบุรี, ไข่เค็มไชยาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ข้าวหอมมะลิ จากวิสาหกิจชุมชน พึ่งตนเอง บ้านหนองสะโน ตำบลดอนนาหงษ์ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม, กล้วยกรอบจากจังหวัดนครปฐม, กล้วยน้ำว้าจากจังหวัดสมุทรสงคราม, ฟักทองจากองค์การตลาด, ข้าวแต๋นจากจังหวัดลำปาง, หน้ากากอนามันจากจังหวัดนนทบุรี, เค้กข้าวเม่าจากจังหวัดอุดรธานี, ที่คาดผมทำจากผ้าไหมจากจังหวัดหนองคาย รวมถึงตะไคร้ มะนาว มะละกอ และข่าจากโคก หนอง นา จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจสามารถแวะเข้าไปเยี่ยมชมงาน และหยิบสินค้าเหล่านี้กลับไปบ้านได้เลย โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท เพียงแต่ร่วมบริจาคตามกำลังศรัทธาแทน อย่างไรก็ตาม ขอให้พกถุงผ้ามาด้วย เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจะนำรายได้จากการร่วมบริจาคทั้งหมด ไปสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในกาลต่อไป เรียกได้ว่า อิ่มทั้งกายและอิ่มทั้งใจ ทั้งจากเครือข่ายผู้ให้ และผู้รับที่เข้าร่วมเยี่ยมชมงานกันเลยทีเดียว” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่กระทรวงมหาดไทย ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมมหาดไทยปันสุข ซึ่งเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมในครั้งนี้ อันถือเป็นความสำเร็จที่เป็นเสียงสะท้อนจากพื้นที่ ด้วยการแสดงพลังแห่งการให้ตามฐานะและกำลัง มีน้อยให้น้อย มีมากให้มาก โดยส่งผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา และผลผลิตอื่น ๆ มาแบ่งปันให้กับผู้เข้าชมงาน ภายใต้แนวคิด “Our Loss is Our Gain ขาดทุน คือ กำไร ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา” นั่นเอง พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน Sustainability EXPO 2022 (SX2022) ในระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเชิญรับน้ำใจในกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข” จากพี่น้องภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมแสดงพลังทำให้โลกรู้ว่า คนไทยทุกคนเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะร่วมกันขยายผลความสำเร็จ เพื่อ Change for Good สู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บนพื้นฐานวิถีชีวิตที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และผนึกกำลังเป็นภาคีเครือข่ายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สู่การพัฒนาที่เป็นรูปธรรมในทุกมิติอย่างยั่งยืน ใน 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อคนไทยกว่า 69 ล้านคน “โลกนี้เพื่อเรา”
.
.
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 383/2565 วันที่ 29 กันยายน 2565